หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
กสิกรไทยมองเงินเฟ้อ 57 ไม่น่ากังวล หาก ศก.ฟื้นตามคาด
 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปี 2557 อาจยังไม่น่ากังวล หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามคาด
 
ประเด็นสำคัญ
-อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนธ.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.67 (YoY) ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำและเป็นทิศทางที่ชะลอลงจากระดับร้อยละ 1.92 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2556 สอดคล้องกับสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย 
 
-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้หลายตัวแปรอาจหนุนให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกปี 2557 ขยับขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.0 แต่ภาพรวมเงินเฟ้อในปี 2557 ยังน่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.2-2.6 ของทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการปรับตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกไม่ได้มีภาพที่เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 
 
-แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจจะทยอยขยับสูงขึ้น ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคมากนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในปีนี้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ ซึ่งทำให้ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่ทางออกของปัญหาทางการเมืองในประเทศ
 
สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อไทยล่าสุด...ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
แรงกดดันเงินเฟ้อช่วงปลายปี 2556 ยังอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับสัญญาณซบเซาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.67 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้จะชะลอลงจากระดับร้อยละ 1.92 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2556 แต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับประมาณร้อยละ 1.5-1.6 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยและผลสำรวจนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.91 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2556 จากร้อยละ 0.85 (YoY) และร้อยละ 0.71 ในเดือนพ.ย. และเดือนต.ค. ตามลำดับ 
 
อย่างไรก็ดี ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงทยอยปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนจากการขยับขึ้นเมื่อเทียบกับระดับในเดือนก่อนของดัชนีราคาผู้บริโภคอีกร้อยละ 0.14 (MoM) ในเดือนธ.ค. 2556 ตามทิศทางราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.51 MoM) ราคาอาหารสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34) ตลอดจนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่น่าจะปรับตัวขึ้นตามเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี 
 
แนวโน้มเงินเฟ้อช่วงต้นปี และภาพรวมในปี 2557
- อัตราเงินเฟ้อไทยอาจทรงตัว-ขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2557 แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป น่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.0 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 1/2557 โดยปัจจัยที่อาจส่งผลหนุนระดับราคาสินค้าผู้บริโภค ประกอบด้วย
    o ทิศทางเงินบาทที่ยังเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า (โดยถูกกดดันจากความตึงเครียดทางการเมืองและปัจจัยบวกของเงินดอลลาร์ฯ จากสัญญาณชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ) ซึ่งจะหนุนให้ราคาพลังงาน/วัตถุดิบและสินค้านำเข้าอื่นๆ ทรงตัวในระดับสูงกว่าในช่วงปลายปี 2556 
    o การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ตามแผนที่ได้วางไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งในปี 2557 นี้ จะมีการปรับราคาก๊าซทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคขนส่งควบคู่กันไป โดยราคา LPG ภาคครัวเรือนจะทยอยขยับขึ้นต่อเนื่องอีก 0.50 บาท/กก./เดือนตั้งแต่เดือนม.ค. 2557 จนเข้าไปใกล้เคียงระดับราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และหลังจากนั้น จะขยับขึ้นพร้อมๆ กันไปราคาสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กก. ซึ่งน่าจะเป็นช่วงระหว่างเดือนมี.ค.ถึงราวเดือนส.ค.หรือก.ย. 2557
    o ค่าไฟฟ้า Ft ที่จะปรับเพิ่มในอัตรา 5 สตางค์/หน่วย ในงวดแรกเดือนม.ค.-เม.ย. 2557 
    o ฐานตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาสแรกปี 2556
 
-ภาพรวมเงินเฟ้อในปี 2557 น่าจะยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.2-2.6 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกทยอยขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปี 2557 อยู่ที่ระดับประมาณ 105.6 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในปี 2556 ที่ผ่านมา 
 
นอกจากนี้ การติดตามดูแลภาวะราคาสินค้าและภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่องของทางการ ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่น่าจะสะท้อนภาพการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนนักในช่วงครึ่งแรกในปี 2557 ก็น่าจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จำกัดกระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนจากฝั่งผู้ประกอบการมาที่ทิศทางราคาสินค้าขั้นสุดท้ายด้วยเช่นกัน 
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า การขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปี 255 จะยังคงมีลักษณะทยอยขยับขึ้นตามสถานการณ์ของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังน่าจะถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของภาคครัวเรือนในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2557
 
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในปี 2557 จะมีโอกาสขยับสูงขึ้นกว่าระดับในปี 2556 เล็กน้อย ซึ่งก็ทำให้ยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล ณ ขณะนี้ หากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ตามที่คาดหวังไว้ 
 
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัดโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้ทิศทางราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจมีผลกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว ก็ยังคงต้องระวังปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายที่อาจมีผลหนุนทิศทางเงินเฟ้อ อาทิ ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาท ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก หรือเงื่อนไขทางการเมืองที่อาจมีผลกระทบไปถึงความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายตรึงราคาพลังงาน (เช่น ในกรณีที่กองทุนน้ำมันฯ ไม่มีเงินกองทุนเพียงพอในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG) เป็นต้น 
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 3 ม.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting