หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
การเมืองพ่นพิษ ฉุดความเชื่อมั่นอุตฯ ร่วง
  ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ต่อเนื่องมาหลายปี ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศกำลังเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดกำลังซื้อทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ถดถอย ได้ฉุดยั้งให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวไปด้วย ซึ่งมีหลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ได้ประมาณการแนวโน้มตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2556 ในช่วงต้นปีว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 4.2-5.2% ก่อนจะปรับลดลงมาเหลือ 3.8-4.3% และได้มีการปรับลดประมาณการจีดีพีไทยในปีนี้อีกครั้งเหลือ 3% เท่านั้น ส่วนภาคการส่งออกไม่ต้องพูดถึง เพราะมองว่าจะโตได้เพียง 0% ซึ่ง นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะผู้ผลิตได้ออกมาตอกย้ำถึงปัจจัยหลักที่กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมว่า
    ผลจาการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย.2556 ว่า อยู่ที่ 90.3 ลดลงจากเดือน ต.ค.2556 ที่อยู่ที่ 92.8 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมยอดเศรษฐกิจชัดเจน ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง จนส่งผลให้คำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลงชัดเจน ทั้งนี้ผู้ประกอบการหวังให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็ว 
    ส่วนความเชื่อมั่นในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยเหลือ 101.4 จากระดับ 102.4 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการก็ยังคงหวั่นวิตกต่อสถานการณ์การเมืองในอนาคตต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต และผลประกอบการในอนาคต โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในเดือนพ.ย.2556 มีความเชื่อมั่นลดลง จาก 90.9 ในเดือน ต.ค. เหลือ  85.9 ในเดือน พ.ย.
    นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยมาจากภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาที่กำลังปรับตัวดีขึ้น เพราะภาคธุรกิจเริ่มมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการจับจ่ายภายในประเทศเริ่มดีกว่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนยุโรปได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น สืบเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประเทศจีนก็เริ่มส่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นทั้งอุปสงค์ในประเทศและการผลิต ทำให้ภาคส่งออกของไทยดีขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังมีการขยายตัวดีต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในที่มีความแข็งแกร่ง
    เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวประกอบกับเวิลด์แบงก์มองว่าจีดีพีโลกปี 2557 เป็นบวกหลายจุด และหลายประเทศก็ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ตัวเองเติบโต ยกเว้นญี่ปุ่นที่จีดีพีโตลดลงจาก 2% ซึ่งจะส่งผลดีให้การส่งออกของโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย มาเลเซีย จีดีพีน่าจะโตที่ 5% กว่า โดยเฉพาะประเทศไทย แต่ปัจจัยที่กังวลมีอยู่เพียงปัจจัยเดียว คือปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ แม้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ สถานการณ์การเมืองน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ และพร้อมแข่งขันกับต่างประเทศได้  
    นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงว่าโครงการ 2 ล้านล้านบาทจะไม่สามารถดำเนินการได้ จะกระทบกับหลายภาคส่วน เพราะโครงการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดอีก ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนได้อย่างชัดเจนมากกว่าการดำเนินโครงการ ด้วยระบบงบประมาณปกติ   อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนั้นทำให้ขณะนี้คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ไตรมาส 1/2557 เริ่มมีความเสี่ยงแล้ว ลูกค้าเกรงว่าสั่งของแล้วจะมีการส่งมอบไม่ได้ ทำให้ลูกค้าลดความเสี่ยงโดยลดขนาดออเดอร์ลง และไปสั่งซื้อในประเทศเพื่อนบ้านแทน และจะเห็นว่าไทยเสียโอกาสการค้าอย่างต่อเนื่อง
    สำหรับการเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น   นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้คาดการณ์แนวโน้มว่า ในปี 2557เอสเอ็มอียังคงเติบโตตามจีดีพีประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.5% ส่งผลให้การขยายตัวของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4.3-4.7% เป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกด้าน โดยการบริโภคภาคครัวเรือนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ
    ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มคงที่ในระดับต่ำ ซึ่งสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นตามงบประมาณปี 2557 ที่เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 2.6% ผลจากการเติบโตของการลงทุนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 9.9% จากโครงการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่คาดว่าจะเดินหน้าตามแผนที่วางไว้
    นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับลด QE ของสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าขยายตัว โดยเฉพาะด้านบริการที่สำคัญคือการท่องเที่ยวของประเทศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 7.2% ส่วนการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 6%  
    ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดี และแย่ในปี 2557 นั้น  จากการวิเคราะห์ทั้ง 58 สาขา ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ พบว่าในกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
    1.กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกและภูมิภาค ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจบริการด้านสุขภาพ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน/อะไหล่ และกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
    2.กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ต้องพึ่งพิงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในการแข่งขันในตลาดโลกและภูมิภาค เช่น กลุ่ม SMEs ในภาคก่อสร้าง ซึ่งมีโอกาสในการขยายตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC ที่กำลังเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาประเทศ ซึ่งการส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดใหญ่และ SMEs ด้วยการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย จะช่วยให้ SMEs ในธุรกิจดังกล่าวสามารถขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้เป็นอย่างดี
    3.กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่รัฐต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไป ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน กลุ่มเกษตรกรรมโดยเฉพาะพืชพลังงาน กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มบริการด้านการศึกษา กลุ่มธุรกิจ IT และ ICT รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ได้รับมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี  
    ในส่วนกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นสาขาธุรกิจหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของผลผลิตต่ำในปี 2555-2556 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบต่ำกว่า เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานมาก เช่น เครื่องหนัง การผลิตกระเบื้องเคลือบ ผลิตภัณฑ์แก้ว ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องประดับ ซึ่งมีการขยายตัวน้อยไปจนถึงหดตัว 2.กลุ่มโลหะ-อโลหะมูลฐานที่เป็นวัตถุดิบ เช่น เหมืองแร่ เหล็ก ถ่านหิน และ 3.กลุ่มบริการทางธุรกิจบางประเภท เช่น บริการส่วนบุคคล มีการหดตัวเล็กน้อย 1.12%
    สำหรับสถานการณ์เอสเอ็มอีในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น  2.74 ล้านราย คิดเป็น 98.5% ของจำนวนกิจการรวมทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงาน 11.78 ล้านคน คิดเป็น 80.4% ของการจ้างงานรวมทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเอสเอ็มอี ปี 2556 โดยข้อมูลในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า การส่งออกของเอสเอ็มอีมีมูลค่ารวม 1,571,145.18 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 9.3% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของที่ทำด้วยยาง โดยประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา.
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโำำพสต์
วันที่ลงข่าว : 6 ม.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting