หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
มูดี้ส์ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย
 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เวลา 12.00 น. ของประเทศไทย บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยที่ระดับ Baa1 พร้อมทั้งยืนยันแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ

การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากมุมมองของ Moody’s ว่า ความแข็งแกร่งพื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักถึงแม้ว่าการเผชิญหน้าทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Moody’s ยังได้ยืนยันแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า รัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานจะไม่บั่นทอนความแข็งแกร่งด้านความน่าเชื่อถือของไทยอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 – 18 เดือนข้างหน้า  ในขณะเดียวกัน Moody’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถืออันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของไทยที่ระดับ Prime-2 และอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับการออกตราสารหนี้แบบ MTN หรือแบบ Shelf Registration ที่ (P)Baa1

ปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Baa1 ได้แก่

1. ความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง
2. โครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งและไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร
3. ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังคงดำรงอยู่

พร้อมกันนี้ Moody’s ยังได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ Baa1 ด้วย ในส่วนของเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของไทยก็ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเพดานความน่าเชื่อถือของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ระดับ A2/P-1 ในขณะที่เพดานความน่าเชื่อถือของเงินฝากธนาคารสกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ Baa1/P-2 เพดานความเสี่ยงของประเทศสำหรับภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินบาทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ A1 ซึ่งเพดานความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นการจำกัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ Moody’s จะให้แก่ข้อผูกพันสกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย

เหตุผลในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ

Moody’s เห็นว่า ความแข็งแกร่งพื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับวงจรความกดดันต่อเศรษฐกิจและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ มีดังนี้

ปัจจัยที่ 1 ความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง

รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาลอย่างรอบคอบตลอดช่วงเวลาที่ความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่หลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และแม้กระทั่งในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจและการลงทุนอ่อนแอ โดยโครงสร้างหนี้ที่เอื้ออำนวยของไทยได้ช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ ดังจะเห็นได้จากการพึ่งพาเครื่องมือทางการเงินที่เป็นสกุลเงินบาทและอายุเฉลี่ยของหนี้คงค้างที่นับว่ายาวโดยเปรียบเทียบที่ 7.9 ปี นอกจากนี้ การที่สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้ของรัฐบาลทั้งหมดน้อยกว่าร้อยละ 2  ณ สิ้นปี 2556 ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สอดคล้องของสกุลเงิน (Currency mismatch) เนื่องจากระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยมีเพียงพอ

Moody’s คาดว่า ระดับหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน การกำหนดนโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะถูกกำหนดทิศทางโดยหลักเกณฑ์ทางการคลังที่ชัดเจน ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบความท้าทายต่อวินัยทางการคลังที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายนอกระบบงบประมาณและการระดมทุน

ปัจจัยที่ 2 โครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งและไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร

Moody’s เห็นว่า มี 3 หน่วยงานหลักที่แสดงถึงโครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดย 2 หน่วยงานหลังอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ดังจะเห็นตัวอย่างจากการที่นโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ประสบความสำเร็จของ ธปท. ได้ช่วยรักษาต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ โดยเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากนัก
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 4 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting