หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือน ต.ค. 56 ขยับขึ้นครั้งแรกในรอบปีนี้ ตามราคาหมวดอาหาร
 บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนต.ค. 2556 …ขยับขึ้นครั้งแรกในรอบปีนี้


ประเด็นสำคัญ
    อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนต.ค. 2556 ขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ตามแรงหนุนราคาสินค้าในหมวดอาหาร/เครื่องดื่ม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.46 (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.71 (YoY)
    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า ทิศทางการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย น่าจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่จำกัดผลของต้นทุนที่จะส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภค โดยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2556 จะยังคงต่ำกว่าระดับร้อยละ 2.0 ซึ่งน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2556 อยู่ใกล้กรอบล่างของประมาณการที่มองไว้ที่ร้อยละ 2.1-2.5
    สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตามสัญญาณเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก น่าจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อไทยในปีหน้า ปรับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.4-3.2 ตามทิศทางของต้นทุนผู้ผลิต

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.46 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย. 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.42 (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนต.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.71 (YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 0.61 (YoY) ในเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค.2556 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงสุดในรอบ 5 เดือน (+0.17% MoM) ตามแรงผลักดันของราคาสินค้าในหมวดอาหาร/เครื่องดื่ม (+0.61% MoM) โดยเฉพาะราคาในกลุ่มอาหารสด ซึ่งมีแรงผลักดันมากกว่าช่วงปกติ เพราะมีเทศกาลกินเจ และสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย

แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2556 และตัวแปรเงินเฟ้อไทยในปี 2557
    
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2556 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (YoY) เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่เหลือของปี ยังน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางสัญญาณที่อ่อนแอของตัวแปรที่มีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งทางฝั่งสถานการณ์การใช้จ่ายภายในประเทศ (Demand-Pull Inflation) ที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ แรงกดดันต่อทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็น่าจะทำให้แรงผลักเงินเฟ้อจากฝั่งต้นทุน (Cost-Push Inflation) ไม่เร่งตัวขึ้นมากนักเช่นกัน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะโน้มเอียงเข้าใกล้กรอบต่ำของประมาณการร้อยละ 2.1-2.5 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2556 นั้น อาจมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.0 ตามตัวเลขประมาณการกรณีพื้นฐาน

สำหรับในช่วงปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากเศรษฐกิจไทยสามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งแรกของปี สอดรับกับการทยอยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกแล้ว น่าจะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปี 2557 ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางต้นทุนของผู้ผลิต โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบร้อยละ 2.4-3.2 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 2.8) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2557 อาจไล่ขึ้นไปอยู่ในกรอบร้อยละ 1.4-2.2 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 1.8) โดยแรงหนุนเงินเฟ้อในปีหน้า น่าจะมาจากทั้งทางฝั่งต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนราคาพลังงานในประเทศที่น่าจะขยับสูงขึ้นตามแผนที่วางไว้ (อาทิ การทยอยปรับราคา LPG ภาคครัวเรือน ไปสมทบกับราคา LPG ภาคขนส่ง ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 24.82 บาทต่อกิโลกรัม) และฝั่งที่มาจากการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่คงต้องยอมรับว่า แรงหนุนเงินเฟ้อในส่วนนี้ น่าจะถูกลดทอนไปบางส่วนจากความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน ซึ่งจะยังคงเป็นประเด็นในช่วงปีข้างหน้าต่อเนื่องจากปีนี้ 

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 1 พ.ย. 2556
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting