หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
นักเศรษฐศาสตร์มอง ศก.ไทยแย่ลงอีกใน 3 เดือนข้างหน้า
 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง และจะแย่ลงอีกใน 3 เดือนข้างหน้า  หลังจากนั้น เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับอานิสงค์จากภาคส่งออก  ขณะที่วัฏจักรเศรษฐกิจมีการเคลื่อนเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น
 
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8 – 17 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 36.99 เป็น 17.85 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับจากมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ (หรือต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง)  และการที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
 
ด้านดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า  ค่าดัชนีปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจจะแย่ลงอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้า  ส่วนดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้า  แม้ค่าดัชนีจะปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าเช่นเดียวกัน  แต่การที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 สะท้อนเห็นเห็นถึงความเชื่อมั่นที่คาดว่าเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าน่าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน  
 
เมื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่จะคอยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวคือ  การส่งออก  การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ  การบริโภคภาคเอกชน  และการลงทุนภาคเอกชน  ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป
 
ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร  พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 67 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอย รองลงมาร้อยละ10 เห็นว่าอยู่ในช่วงขยายตัว ร้อยละ 5 เห็นว่าอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) และร้อยละ 2 เห็นว่าอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  แล้วแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ         ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด  จะพบว่า วัฏจักรมีการเคลื่อนเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น
 
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า 
(1) เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในสถานที่อ่อนแอเป็นอย่างมาก  และจะแย่ลงอีกใน 3 เดือนข้างหน้า
(2) เศรษฐกิจไทยในระยะ  6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นโดยภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยประคองเศรษฐกิจไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้  ส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป 
(3) วัฏจักรเศรษฐกิจมีการเคลื่อนเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 21 ม.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting