หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ข้าวไทย "ดาวร่วง" ต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ จำนำทำพัง
 โครงการ "รับจำนำข้าวทุกเมล็ด" ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนึ่งในโครงการประชานิยม เป็นที่รับรู้กันทั่วถึงความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเกิดการทุจริตในทุกขั้นตอนในการดำเนินการแล้ว ยังทำลายการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกอีกด้วย
    จากที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าว ต้องตกลงมาอยู่อันดับ 3 ถึงสามปีซ้อน ขณะที่ราคาข้าวไทยเคยแข่งขันได้ในตลาดโลก กลับต้องพ่ายแพ้ต่อคู่แข่ง เพราะข้าวไทยราคาแพงเกิน ผู้ซื้อบ่ายหน้าหนี นั่นเพราะพิษสงจากการรับจำนำในราคาแพงจนเกินไป บิดเบือนกลไกตลาด
    รัฐบาลรับจำนำข้าวไว้จำนวนมาก แต่ระบายไม่ได้มาก ส่งผลให้สต็อกคงค้างในโกดังสูงถึง 15-16 ล้านตันข้าวสาร หมดเงินไปกับการรับจำนำสำหรับ 5 โครงการไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท นอกจากขายข้าวได้กว่า 1.5 แสนล้านบาทแล้ว  รัฐบาลยังค้างหนี้ค่าจำนำข้าวแก่ชาวนาอีกกว่า 1.3 แสนล้านบาท และยังไม่มีปัญหาว่าจะหาเงินจากไหนมาจ่ายให้
    ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิเคราะห์ "ข้าวไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือเออีซี ที่จะเปิดในปี 2558 นี้ พบว่า ในปี 2557 ข้าวไทยจะยังคงเป็น "ดาวร่วง" ต่อไป
    “ถามว่าข้าวไทยในปี 2557 นี้จะเป็นอย่างไร ตอบได้เลยว่าจะยังเป็น “ดาวร่วง” อีกต่อไปทั้งในอาเซียนและในตลาดโลก โดยไทยจะยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ต่อไป รองจากอินเดียและเวียดนาม ซึ่งเป็นการร่วงจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยคาดว่าในปี 2557 นี้ ไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 6.5-6.8 ล้านตัน ลดลงไปประมาณ 2-5 แสนตัน หรือ 2.85-7.14% มูลค่าการส่งออกที่หายไปประมาณ 30,710-34,580 ล้านบาท” นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ
    ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยในตลาดโลก พบว่าไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าว “ลดลงมากที่สุด”
    โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดการณ์ว่า ในปี 2557 อินเดียจะส่งออกข้าวได้ 9.30 ล้านตัน ลดลงแสนตันตันจากปี 2556 ที่ส่งออกได้ 10 ล้านตัน หรือลดลง 7% แต่จะยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ต่อไป ขณะที่อันดับ 2 คือ เวียดนามคาดว่าจะส่งออกได้ 7.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4 แสนตัน หรือ 5.41% จากปี 2556 ที่ส่งออกได้ 7.40 ล้านตัน ส่วนไทยอยู่อันดับ 3 ส่งออก 6.5-6.8 ล้านตัน อันดับ 6 เป็นกัมพูชา คาดว่าจะส่งออกได้ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2 แสนตัน หรือ 2.56% จากปี 2556 ที่ส่งออกได้ 9.8 แสนตัน
    “แต่ที่น่าจับตาคือม้ามืออย่างพม่าที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะส่งออกข้าวให้ได้ 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.05 ล้านตัน จากปี 2556 ที่ส่งออกได้ 7.5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 140% และพม่าตั้งเป้าว่าภายในปี 2014-2015 จะเพิ่มการส่งออกข้าวเป็น 2 เท่า เป็น 2.5 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 4.8 ล้านตัน ในปี 2019-2020 ซึ่งถือว่าพม่าเป็นประเทศที่น่าจับตาอย่างยิ่ง” นายอัทธ์ กล่าว
    เมื่อย้อนไปดูปริมาณและสัดส่วนการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดโลก จะพบว่าตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2556 ไทยส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ปรับลดลงอย่างมากและเห็นได้ชัด
    โดยอินเดียส่งออก 2.15 ล้านตันในปี 2552 เพิ่มเป็น 4.64 ล้านตันในปี 2554 และเพิ่มเป็น 10 ล้านตันในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 26.09% โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ขณะที่อันดับ 2 คือเวียดนาม ปี 2552 ส่งออก 3.02 ล้านตัน เพิ่มเป็น 7 ล้านตันในปี 2554 และเพิ่มเป็น 7.4 ล้านตันในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 19.31% ส่วนไทย ปี 2552 ส่งออกได้ 8.59 ล้านตัน เพิ่มเป็น 10.65 ล้านตันในปี 2554 แต่หลังจากนั้นปรับลดลงมาตลอด เหลือ 6.95 ล้านตันในปี 2555 และ 6.97 ล้านตันในปี 2556 หรือลดลง 18.26%
    “หากเทียบจากปี 2552 จนถึงปี 2556 พบว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกหายไป 1.62 ล้านตัน มูลค่าหายไปประมาณ 10,710 ล้านบาท แต่หากเทียบจากปี 2554 จะหายไป 3.1 ล้านตัน มูลค่าหายไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท เทียบกับอินเดียที่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 7.85 ล้านตัน หรือ 365% มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท ส่วนเวียดนามปริมาณเพิ่มขึ้น  4.38 ล้านตัน หรือ 59% มูลค่าเพิ่มขึ้น 5.1 หมื่นล้านบาท”
    จะเห็นว่าข้าวไทยในตลาดโลกมีแต่ “ทรงกับทรุด” ขณะที่คู่แข่งมีแต่ “รุ่งกับโรจน์”
    โดยสัดส่วนข้าวไทยในตลาดโลกปี 2552 อยู่ที่ 29.15% สูงอันดับ 1 แต่ลดเหลือ 18.26% ในปี 2556 หล่นมาอยู่อันดับ 3 ขณะที่สหรัฐอยู่อันดับ 2 ในปี 2552 อยู่ที่ 20.24% ลดลงเหลือ 8.87% ในปี 2556 เป็นอันดับ 4 ส่วนอันดับ 3 ในปี 2552 คือเวียดนาม มีสัดส่วน 10.26% เพิ่มเป็น 19.31% ในปี 2556 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และอินเดียอยู่อันดับ 4 ในปี 2552 สัดส่วน 7.31% เพิ่มเป็น 26.09% ในปี 2556 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน
    หากไปดูข้อมูลการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอาเซียน พบว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในอาเซียน “ลดลงอย่างต่อเนื่อง” ในช่วงปี 2553-2556 และหากพิจารณาข้อมูลจากปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าไทยส่งออกข้าวไปอาเซียน 9 ประเทศ ลดลง 3.55 แสนตัน ลดลง 43% คือเป็นมูลค่าที่หายไปประมาณ 3,141 ล้านบาท
    โดยอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยปี 2552 ส่งออกได้ 219 ล้านตัน เพิ่มเป็น 9.14 แสนตันในปี 2554 แต่ลดเหลือ 8.7 หมื่นตัน ในปี 2556 หล่นลงมาเป็นผู้นำเข้าอันดับ 3 จากไทย สิงคโปร์ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 นำเข้าปี 2552 จำนวน 1.87 แสนตัน เพิ่มเป็น 2.29 แสนตันในปี 2554 และลดเหลือ 1.3 แสนตันในปี 2556 ขณะที่มาเลเซียขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แต่นำเข้าเพียง 1.55 แสนตันเท่านั้น จากที่เคยนำเข้า 1.62 แสนตันในปี 2552 เพิ่มเป็น 3.3 แสนตันในปี 2554 ลดเหลือ 1.55 แสนตันในปี 2556 ที่ผ่านมา
    “สาเหตุที่ข้าวไทยแข่งไม่ได้ แต่มีลดน้อยถอยลงทั้งในตลาดโลกและอาเซียน เป็นเพราะว่า 1.ประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าคู่แข่ง 2.ต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง ถ้าต้นทุนการผลิตสูง ไม่ต้องไปแข่งกับใครแล้ว 3.นโยบายการแทรกแซงราคา 3 ปัจจัยนี้ ทำให้การแข่งขันของข้าวไทยถูกบั่นทอน และสูญเสียส่วนแบ่งและมูลค่าการส่งออกทั้งในตลาดโลกและอาเซียน” นายอัทธ์ ระบุ
    เมื่อเทียบต้นทุนและรายได้ที่ชาวนาได้รับ พบว่า ต้นทุนและรายได้ของไทยสูงสุด เมื่อเทียบเวียดนามและพม่า แต่มีเงินเหลือในกระเป๋าน้อยที่สุด โดยต้นทุนของไทยอยู่ที่ 9,763 บาทต่อตัน สูงกว่าเวียดนาม 5,692 บาทต่อตัน สูงกว่าพม่า 2,641 บาทต่อตัน ขณะที่ผลิตต่อไร่ของไทยได้ 450 กิโลกรัม (กก.) เวียดนามได้ 900 กก. พม่าได้ 420 กก. ส่วนรายได้ของไทย 11,319 บาทต่อตัน เวียดนาม 7,251 บาทต่อตัน และพม่า 10,605 บาทต่อตัน ส่งผลให้ชาวนาไทยมีเงินเหลือ 1,555 บาทต่อตัน ขณะที่เวียดนามเหลือ 3,180 บาทต่อตัน และพม่าเหลือ 3,484 บาทต่อตัน
    หากเทียบเป็นครัวเรือน ชาวนาไทยมีเงินเหลือ 28,035 บาทต่อปี ขณะที่เวียดนามเหลือ 54,217 บาทต่อปี และพม่า เหลือ 29,278 บาทต่อปี
    "การจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยทั้งในอาเซียนและตลาดโลก คือการลดต้นทุนการผลิตลง โดยขอเสนอไปยังรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาคือ การตั้งกองทุนรัฐบาลในการอุดหนุนต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนาในสัดส่วน 40% ของต้นทุนต่อไร่ ขนาดของวงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถกระทำได้และไม่ขัดต่อบทบัญญัติขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เพราะอยู่ใน Green Box ที่สามารถทำได้"
    ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 9,763 บาท หากอุดหนุน 40% เท่ากับ 3,905 บาทต่อตัน เทียบกับข้อมูลจากภาครัฐพบว่าชาวนาไทยถือครองที่ดินเฉลี่ย 20 ไร่ จะได้ผลผลิต 9.01 ตัน คิดเป็นเงินอุดหนุน 35,187 บาท ใน 1 ปีทำนา 2 ครั้ง เท่ากับรัฐจ่ายเงินอุดหนุนต้นทุน 70,374 บาทต่อปี เท่ากับรัฐจะใช้เงินอุดหนุนสำหรับชาวนา 2 ล้านครัวเรือนปีละ 196,826 ล้านบาท
    “ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้า หรือยกเลิกการรับจำนำ แต่ทางศูนย์ฯ มีข้อเสนอว่า ควรจะมีการตั้งกองทุนรัฐบาลขึ้นมาเพื่ออุดหนุนต้นทุนแก่ชาวนา ปีหนึ่งก็ตกประมาณ 1.9-2 แสนล้านบาท เทียบกับการแทรกแซงราคาโดยการจำนำที่ใช้อยู่ปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ถือว่าคุ้มกว่ากันเยอะ“ นายอัทธ์กล่าว
    ทั้งนี้ พบว่าชาวนาต้องการราคาข้าวที่ตันละ 1 หมื่นบาท ดังนั้น การอุดหนุนต้นทุนสัดส่วน 40% หรือตันละ 3,905 บาท ไม่ว่าราคาข้าวจะลดลงมาอยู่ที่ตันละ 6-7 พันบาท ราคาที่ชาวนาจะได้รับยังเกินตันละ 1 หมื่นบาทอยู่ดี และรัฐบาลไม่ต้องไปรับจำนำและมีภาระในการเก็บรักษาข้าว เพราะชาวนาจะนำไปขายในตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันและมีผลดีต่อราคาอีกด้วย
    อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าโครงการรับจำนำต่อ นายอัทธ์เสนอว่า ควรจะมีการลดราคารับจำนำต่อตันลงจากปัจจุบันที่ตันละ 15,000-20,000 บาท และลดวงเงินเพดานที่ให้ต่อครัวเรือนลงจากปัจจุบันครัวเรือนละ 3.5 แสนบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง
    "โครงการรับจำนำข้าว" ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า และเกิดการทุจริต คอร์รัปชันทุกขั้นตอน แถมยังเป็นหนี้ชาวนามากกว่า 1.3 แสนล้านบาท คงเดินหน้าต่อไปไม่ได้แน่ ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนจะมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ควรต้องทบทวนนโยบายการรับจำนำข้าว เพื่อให้อนาคตข้าวไทยกลับมา "รุ่ง" อีกครั้ง.
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
วันที่ลงข่าว : 4 มี.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting