หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561

 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 61 จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,203 ตัวอย่างว่า จำนวนหนี้เฉลี่ยครัวเรือนในปี 61 มีมูลค่า 316,000 บาท/ครัวเรือน สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 52 เป็นต้นมา หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 60 ที่มีหนี้เฉลี่ย 299,000 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 64.7% ลดลงจากการสำรวจปี 60 ที่มีสัดส่วน 74.6% และหนี้นอกระบบ 35.3% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 60 ที่มีสัดส่วน 26.4% 

 

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวต่อว่า แม้ว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือนในปี 61 จะสูงสุด แต่หากดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนแล้วยังไม่น่ากังวล เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่า เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน และการลงทุนประกอบกิจการ เช่น ลงทุนเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น อีกส่วนมาจากการก่อหนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ครัวเรือน มีการก่อหนี้มาใช้จ่ายในครัวเรือนมากขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ หากดูการผ่อนชำระต่อเดือน พบว่า ครัวเรือนมีความสามารถในการผ่อนชำระสูงขึ้น โดยปี 61 ผ่อนชำระเฉลี่ย 15,900 บาท/ครัวเรือน/เดือน เพิ่มขึ้น 3.15% เทียบกับปี 60 ที่มีการผ่อนชำระ 15,400 บาท/ครัวเรือน/เดือน 

“โครงสร้างหนี้ครัวเรือนที่สำรวจมา ถือว่าไม่น่าห่วงและสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงเหลือ 77% หรือประมาณ 12 ล้านล้านบาท หรือลดลงในรอบ 3-5 ปี ที่หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของจีดีพี” นายธนวรรธน์ กล่าว

ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ในปีนี้ สาเหตุที่ครัวเรือนก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เพราะมีการกู้หนี้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว จึงต้องก่อหนี้นอกระบบเพิ่มเติม ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งผลักดันมาตรการสินเชื่อพิกโก ไฟแนนซ์ หรือให้นำสินทรัพย์ เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ มาใช้กู้เงินได้ รวมถึงสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ อย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าดำเนินการถูกทางแล้ว และการดึงให้เจ้าหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยควบคุมอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 36% ต่อปี จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้

 

“การแก้ปัญหาหนี้ภาพรวมของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว ที่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แม้ว่าผลการสำรวจหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนจะเพิ่มสูงสุด แต่หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนกับในอดีต ขณะเดียวกัน การกู้หนี้ซื้อสินทรัพย์ ยังอยู่ในสัดส่วน 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการลงทุน และการใช้จ่ายทั่วไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติ” นายธนวรรธน์ กล่าว

แหล่งที่มา : Thairath
วันที่ลงข่าว : 11 ธ.ค. 2561
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting