หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
กสิกรไทยคาดวิกฤตค่าเงินเปโซกดดันส่งออกของไทยไปอาร์เจนตินาหดตัวไม่ต่ำกว่า 10-15%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์  วิกฤตค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา…ตอกย้ำความเปราะบางของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่

ประเด็นสำคัญ
        วิกฤตค่าเงินเปโซอาร์เจนตินากระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกอีกระลอก โดยสินทรัพย์/สกุลเงินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตุรกี และประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา เผชิญแรงเทขายอย่างหนักท่ามกลางความกังวลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในช่วงจังหวะที่เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าทยอยปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนของมาตรการ QE อย่างต่อเนื่อง
        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะยังคงส่งผลกดดันค่าเงินของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และไทยในช่วงที่เหลือของปี 2557 นี้ อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนน่าที่จะอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างมั่นคง รวมถึงศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า ที่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบในระยะสั้น
         สำหรับผลจากปัญหาของอาร์เจนตินาที่มีต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อาจทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอาร์เจนตินาในปี 2557 หดตัวไม่ต่ำกว่า 10-15% ซึ่งอาจกระทบภาพรวมของการส่งออกไทยประมาณ 0.1% อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า หากสัญญาณที่อ่อนแอแผ่กระจายไปยังตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ ก็อาจทำให้แรงหนุนจากตลาดส่งออกศักยภาพที่ถูกคาดหวังว่า จะมีบทบาทช่วยหนุนการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปี 2557 ลดน้อยลงตามไปด้วย
         ความผันผวนของตลาดหุ้นและสกุลเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การคาดการณ์เกี่ยวกับการเดินหน้าชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (มาตรการ QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองและพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอของบางประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาร์เจนตินา ตุรกี และสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา และเอเชีย

ปัญหาค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา…แรงกดดันอีกระลอกของสินทรัพย์กลุ่มตลาดเกิดใหม่

ต้นตอของปัญหาค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา  

          ทางการอาร์เจนตินาได้ผลักดันหลายมาตรการออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุน ซึ่งรวมไปถึงการยื่นข้อเสนอการชำระหนี้บางส่วนให้กับกลุ่มปารีสคลับ  เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศ และการประกาศมาตรการเพิ่มเติมในการจำกัดการใช้เงินตราต่างประเทศของประชาชน (อาทิ การเก็บภาษีในอัตรา 50% ของธุรกรรมการซื้อสินค้าทางออนไลน์หากวงเงินสูงกว่า 25 ดอลลาร์ฯ) อย่างไรก็ดี ดูเหมือนกับว่า ความสูญเสียของทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับประมาณ 1.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตลอดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะกลายเป็นต้นตอที่นำไปสู่แรงกดดันอย่างหนักต่อค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา จนทำให้ธนาคารกลางอาร์เจนตินาจำต้องหยุดการแทรกแซงตลาดเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา และตามมาด้วยการประกาศผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของประชาชน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ม.ค. 2557
          อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ก่อนจะวิเคราะห์ต้นตอที่แท้จริงของวิกฤตความไม่เชื่อมั่นต่อค่าเงินเปโซนั้น คงต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งก่อนว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาจะอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง (เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแล้ว ธนาคารกลางอาร์เจนตินาเองก็ประสบความล้มเหลวในการเข้าจัดการอย่างเด็ดขาดกับความไร้เสถียรภาพในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
          ทั้งนี้ ค่าเงินเปโซเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ซื้อขายในตลาดมืด มีความแตกต่างกับอัตราทางการถึงประมาณ 70% ดังนั้น การเข้าพยุงค่าเงินเปโซอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างยากจะหลีกเลี่ยง อนึ่ง ทุนสำรองฯ ของอาร์เจนตินาลดต่ำลงมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ปีที่ 2.498 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ มีการประเมินกันว่า อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงในปี 2556 อาจสูงถึง 28.4%  สวนทางกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าระดับ 5.0% โดยเฉลี่ยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
          ความปั่นป่วนกระจายตัวในหลายตลาดเกิดใหม่
ไม่เพียงแต่ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาเท่านั้น สินทรัพย์/สกุลเงินของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทั้งในลาตินอเมริกา เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ก็เผชิญกับบททดสอบครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับโพสิชั่นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ได้แก่ ตุรกี แอฟริกาใต้ รัสเซีย ชิลี เม็กซิโก บราซิล และเวเนซูเอล่า เพราะนอกจากประเทศเหล่านี้จะมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอแล้ว บางประเทศยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอีกด้วย           ทั้งนี้ หากประเมินว่า การส่งสัญญาณของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ที่ระบุถึง การเตรียมปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการ QE ในช่วงเดือนพ.ค. 2556 เป็นเหตุการณ์ที่จุดกระแสการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงระลอกแรกแล้ว การทรุดตัวลงอย่างหนักในรอบ 12 ปีของค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2557 ที่ผ่านมา ก็น่าจะถือเป็นสถานการณ์ที่กระตุ้นความปั่นป่วนให้กับสินทรัพย์กลุ่มตลาดเกิดใหม่ตามมาเป็นระลอกที่สองในปีนี้ โดยทันทีที่ธนาคารกลางอาร์เจนตินาได้ยุติการปกป้องค่าเงิน  เพื่อลดการสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศ ค่าเงินเปโซก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงถึง 11.9% (นับเป็นการอ่อนค่ารายวันที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การประกาศลดค่าเงินครั้งใหญ่ในปี 2545 ) ไปทุบสถิติอ่อนค่าสุดในประวัติการณ์ และเมื่อประกอบภาพเข้ากับปัญหาความไร้เสถียรภาพของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อีกหลายประเทศ ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการทยอยถอยออกจากมาตรการ QE ของเฟด จึงส่งผลทำให้สินทรัพย์/สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่เผชิญแรงกดดันถ้วนหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน นำโดย เงิน Lira ของตุรกี (มีแรงกดดันจากวิกฤตการเมือง) ที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ เงิน Rand ของแอฟริกาใต้ และ เงิน Ruble ของรัสเซียนั้น อ่อนค่าแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและเอเชีย และสวนทางกับการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ทองคำ รวมถึงเงินเยน และเงินฟรังก์สวิส

ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย...เมื่อเศรษฐกิจอาร์เจนตินาเผชิญวิกฤตหลายด้าน
          แม้เศรษฐกิจโลกในปี 2557 มีแนวโน้มสดใสขึ้น ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่ในทางกลับกัน ประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในหลายภูมิภาค เช่น ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่เคยเป็นตัวนำการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอยู่ในขาลงนั้น กลับมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ และเสี่ยงต่อการลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตในอนาคต โดยเฉพาะประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแออย่างอาร์เจนตินา และอาจส่งผลกระทบออกไปเป็นวงกว้างทั่วทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมถึงตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
         ทั้งนี้ การเกิดวิกฤตในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่นับเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงของไทย ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับอาร์เจนตินานั้น นับเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิลและเม็กซิโก ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 ไทยและอาร์เจนตินามีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 1,998 ล้านดอลลาร์ฯ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ฯ พลิกจากเดิมที่เกินดุลราว 295 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2555 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ กากถั่วเหลือง และถั่วเหลือง โดยในปีที่ผ่านมา อาร์เจนตินาได้กลายเป็นแหล่งนำเข้ากากถั่วเหลืองอันดับ 1 ของไทยแทนที่บราซิล
         ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เปราะบาง รวมถึงวิกฤตค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา อาจกดดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอาร์เจนตินาในปี 2557 พลิกกลับมาหดตัวไม่ต่ำกว่า 10-15% จากที่คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 9.0% ในปี 2556 โดยสินค้าที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ
        นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า หากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอาร์เจนตินาลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ก็อาจส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2556  ไทยมีการส่งออกไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นมูลค่า 7,618.9 ล้านดอลลาร์ฯ และนำเข้าเป็นมูลค่า 4,517.5 ล้านดอลลาร์ฯ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับลาตินอเมริกามาตั้งแต่ปี 2549 ทั้งนี้ ตลาดลาตินอเมริกาถือว่ามีความสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดลาตินอเมริกาเป็นหลัก ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ ไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองและถั่วเหลืองมากถึง 40% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากลาตินอเมริกา  
        โดยสรุป แม้วิกฤตความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา จะกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายอย่างหนักในสินทรัพย์/สกุลเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อีกระลอก ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ส่งผลปกคลุมบรรยากาศของตลาดการเงินไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียบางส่วนด้วยเช่นกัน แม้ว่าการตอบสนองของตลาดเอเชียในรอบนี้ อาจจะไม่รุนแรงเด่นชัดเหมือนกับในปี 2556 ที่ผ่านมา
        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะยังคงส่งผลกดดันค่าเงินของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) รวมถึงไทยในช่วงที่เหลือของปี 2557 นี้ อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนน่าที่จะอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างมั่นคง รวมถึงศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้า ที่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบในระยะสั้น ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นี้ ที่ 2.2-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.0%
         สำหรับผลกระทบจากปัญหาในอาร์เจนตินาที่มีต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินค้าส่งออกของไทยบางรายการ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล อาจเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจและค่าเงินเปโซที่เปราะบางของอาร์เจนตินา โดยคาดว่า การส่งออกของไทยไปยังอาร์เจนตินาอาจพลิกกลับมาหดตัวไม่ต่ำกว่า 10-15% ในปี 2557 และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกโดยรวมของไทยประมาณ 0.1% อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า หากสัญญาณที่อ่อนแอแผ่กระจายไปยังตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ ก็อาจทำให้แรงหนุนจากตลาดส่งออกศักยภาพที่ถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทช่วยหนุนการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปี 2557 ลดน้อยลงตามไปด้วย
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 28 ม.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting