หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
เศรษฐกิจอินโดเริ่มไม่คึกครื้นขยายแค่ 5.78%
  เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2556 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี โตเพียง 5.78% คาดโดนผลกระทบจากนโยบายลดคิวอี ของธนาคารกลางสหรัฐฯแต่นักเศรษฐศาสตร์ระบุ ขยายตัวดีกว่าคาด
    สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนในปีที่แล้วว่าจีดีพี ขยายตัว 5.78% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจประเทศนี้ขยายตัวต่ำกว่า 6% นับจากปี 2552
    เอเอฟพี ระบุว่า เศรษฐกิจปี 2556 แม้ขยายตัวต่ำกว่าปี 2555 ที่ขยายตัว 6.2% แต่ยังสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากการส่งออกของอินโดนีเซียในช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวมากกว่าที่คาดหมายไว้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่ขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 เรื่อง
    นายเดวิด ซามูเอล จากธนาคารแบงก์เซ็นทรัลเอเชีย ซึ่งเป็นแบงก์เอกชนใหญ่อันดับ 1 ของเมืองอิเหนาให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเลขที่ดีกว่าคาดคือการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแร่ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ออกกฎห้ามการส่งออกสินค้าแร่บางส่วนตั้งแต่ต้นปี 2557 ทำให้มีการเร่งส่งออกก่อนที่จะโดนห้าม
    รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่าประเทศอินโดนีเซียมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านแร่ธาตุ ส่งออกทั้งถ่านหิน ยางพารา นิกเกิล ทองแดงและ ทองคำเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศและเป็นวัตถุดิบของเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน เมื่อมีการประกาศห้ามส่งออกทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดค้าแร่นานาชาติทันที
    เอเอฟพี รายงานว่าอินโดนีเซียในฐานะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่โดนผลกระทบอย่างหนักจากการถอนนโยบายคิวอี ของรัฐบาลกลางอเมริกัน เนื่องจากนักลงทุนนานาชาติถอนเงินลงทุนออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อนำเงินกลับไปลงทุนในสหรัฐอเมริการวมทั้งอินโดนีเซียทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดหุ้นและตลาดเงินอินโดนีเซีย
    ผลจากการลดคิวอีทำให้ดัชนีตลาดหุ้นจาการ์ตาตกจากระดับ 5,000 จุดในเดือนพฤษภาคม ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 4,000 จุดในเดือนกันยายนปีที่แล้ว
    นอกจากนโยบายลดคิวอี ของแบงก์ชาติอเมริกันแล้ว เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ยังโดนผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เริ่มคลายความร้อนแรงลงทำให้ การส่งออกไปประเทศจีนชะลอตัวลงรวมทั้งปัญหาภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นราคาน้ำมันทางการที่เพิ่มขึ้นถึง 44% และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่กระทบต่อค่าเงินรูเปียห์ที่มีค่าลดลง 25% เฉลี่ยทั้งปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
    มีรายงานว่ายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียมีตัวเลขขาดดุลทะลุ 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสที่ 2 ในปีที่แล้วซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับจากช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน
เอเชียในปี 2541
    อย่างไรก็ดีรายงานข่าวระบุว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แม้จะชะลอตัวเหลือ 5.78% แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบกับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 10 ก.พ. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting