หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
3 แบงก์รัฐอัดฉีดเงินเกือบแสนล้าน เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs
  เอสเอ็มอีแบงก์-ออมสิน-ธ.ก.ส.ระดมสภาพคล่องเกือบแสนล้านสนองนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองช่วงกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา
    นางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Special SMEs เพื่อช่วยลูกค้า ธนาคาร สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะต้องการใช้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ธนาคารได้เตรียมวงเงินสำหรับสินเชื่อดังกล่าว 1,000 ล้านบาท
    สินเชื่อ Special SMEs เป็นสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าชั้นดีของธนาคาร โดยคิดดอกเบี้ยพิเศษ MLR ต่อปีตลอดอายุโครงการ และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถใช้หลักประกันเดิมที่เป็นที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเดิมมาใช้เป็นหลักประกัน  โดยกู้ได้ไม่เกินจากวงเงินสินเชื่อเดิมและมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี สำหรับลูกค้าธนาคารที่สนใจสามารถยื่นขอกู้ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 หรือเมื่อหมดวงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ  
    ด้านธนาคารออมสิน ดร.ธัชพล กาญจนกูล รักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ออมสินร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเสนอมาตรการด้านสินเชื่อในโครงการ "สินเชื่อ SMEs สุขใจ" กู้ไว ดอกถูก ผ่อนนาน ภายใต้หลักบรรเทา ส่งเสริม และพัฒนา เริ่มให้บริการแล้วทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยเตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยธนาคารจะเข้าดูแลลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการหาตลาดให้หรือบางกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพมากก็จะผลักดันให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตัวเองผ่านตลาดทุน เป็นต้น
    สำหรับโครงการนี้ธนาคารได้เปิดให้บริการสำหรับลูกค้า SMEs รายใหม่ทั่วประเทศ และลูกค้าเดิมของธนาคารที่ประกอบธุรกิจ SMEs และเป็นลูกค้าในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจห้องแถว, สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ, สินเชื่อสำหรับผู้ผลิต, ผู้ประกอบการ OTOP ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท มีทั้งเงินกู้ระยะสั้น และเงินกู้ระยะยาว โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ระยะยาว ปีที่ 1 อยู่ที่ MLR-1% (ปัจจุบัน MLR ของออมสินอยู่ที่ 6.875%)  หลังจากนั้น ปีที่ 2 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ย MLR
    ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายฐานิศร์ สุทธสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการเปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยตรงในพื้นที่โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร  ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มองค์กรชุมชน วิสาหกิจชุมชน ที่สนใจลงทุนในกิจการที่สนับสนุนหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น การผลิต การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อไปถึงการส่งออก ทั้งพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทน และสัตว์เศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นได้จัดเตรียมวงเงินจำนวน 65,900 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรจำนวน  25,000  ล้านบาท  สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน 7,500 ล้านบาท  สินเชื่อผู้ประกอบการ 3,400 ล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (บัตรสินเชื่อเกษตรกร) จำนวน 30,000 ล้านบาท
    นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการพัฒนาด้านการตลาดขององค์กรเกษตรกร  เช่น การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมผลผลิตหลักที่สำคัญ 9 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ใบยาสูบ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และโคเนื้อ ให้ได้ร้อยละ 10 ของผลผลิตรวม  โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาด ซึ่งผลผลิตที่รวบรวมจะนำมาบริหารจัดการ เช่น  แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม  การจัดหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อยกระดับราคาสินค้าอย่างเป็นระบบและสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 18 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting