หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
รื้อแผนแจกโบนัสรัฐวิสาหกิจ คลังตะลึงตัวเลขเงินทะลุ 1 หมื่น ล.
 คลังทำข้อมูลเสนอ คสช. รื้อแผนการจ่ายโบนัสรัฐวิสาหกิจ หลังพบ 1 ปีอัดผลตอบแทนพิเศษรวมทะลุ 1 หมื่นล้านบาท
    นายรังสรรค์ ศรีวรศาตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการจ่ายผลตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา เพราะพบว่ามีการจ่ายผลตอบแทนให้กรรมการนอกเหนือจากเบี้ยประชุม และโบนัสอยู่หลายรายการ เช่น ค่าตำแหน่งกรรมการ ค่าเลี้ยงรับรอง หลังจากที่ คสช.สั่งให้ตัดสิทธิ์ตั๋วฟรีของกรรมการบินไทย เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายของประเทศ
    นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอ คสช.ให้ทบทวนการจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสมมากขึ้น เพราะมีรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสให้พนักงานสูงเกินไป เช่น  บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายโบนัสปี 2556 ให้พนักงานสูงถึง 11 เดือน ซึ่งถือว่าสูงเกินไป แม้ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
    "การจ่ายโบนัสพนักงานไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นอำนาจของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดมีหลักเกณฑ์ให้จ่ายโบนัสได้ไม่เกิน 11 เดือน ขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน และรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนไม่สามารถจ่ายโบนัสพนักงานได้ ซึ่งจะต้องเข้าไปดูความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง" นายรังสรรค์กล่าว
    แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นอกจากผลตอบแทนของกรรมการรัฐวิสาหกิจแล้ว ผลตอบแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถให้เงินเดือนพนักงานได้โดยไม่ต้องติดเกณฑ์ของรัฐบาล ทำให้เงินเดือนพนักงานสูง และยังมีการจ่ายโบนัสจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายเงินโบนัสรวมของรัฐวิสาหกิจปีหนึ่งมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
    ทั้งนี้ นอกจาก บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายโบนัส 11 เดือน ยังมีธนาคารออมสินจ่ายโบนัส 5.8 เดือน ใช้เงินกว่า 3 พันล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายโบนัส 6-7 เดือน ใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จ่ายโบนัส 7 เดือน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ทั้ง 2 แห่ง มีหนี้เสียแห่งละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่ขอกระทรวงการคลังให้จ่ายโบนัส 4 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
    สำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยจ่ายโบนัส 3 เดือน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จ่ายโบนัส 6 เดือน บริษัทการบินไทย เมื่อปี 2555 พนักงานประท้วงให้จ่ายโบนัส 2 เดือน และขึ้นเงินเดือนอีก 7.5% นอกจากนี้พนักงานบริษัทการบินไทยยังเป็นบริษัทเดียวที่บริษัทต้องจ่ายภาษีรายได้ให้กับพนักงาน ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวต้องมีการทบทวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดค่าใช้จ่ายของประเทศ.
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
วันที่ลงข่าว : 17 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting