หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ผลการสำรวจ “แนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปไทยในยุคดิจิทัล”
 ม.หอการค้าไทย-ธพว. เผยผลสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปไทย ชี้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ และต้องการยกระดับด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร สารสนเทศ เชื่อช่วยลดต้นทุน สร้างมาตรฐาน เติบโต และขยายตลาดโกอินเตอร์ ด้าน SME Development Bank ประกาศสร้างถนนสายดิจิทัล เสิร์ฟความรู้คู่ทุน พาเอสเอ็มอีเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจ “แนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปไทยในยุคดิจิทัล” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,219 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอุตสาหกรรมมิใช่อาหาร 22.49% และอุตสาหกรรมอาหาร 77.51% ว่า ตลาดส่วนใหญ่ ขายในประเทศ 95.72% ขายในประเทศคู่ต่างประเทศ 4.12% และตลาดเฉพาะต่างประเทศ 0.16% โดยผู้ประกอบการมีการขายออนไลน์ด้วย (E-Commerce) ถึง 65.7% ส่วนไม่มีการขายออนไลน์ 34.3%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สามารถยกระดับธุรกิจเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นสูงสำเร็จแล้ว มีเพียง 2.87% เท่านั้น ส่วนที่ทำธุรกิจในยุค 3.0 คือ ใช้เครื่องจักรหนักมากขึ้น 1.97% ขณะที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจแบบยุค 2.0 อาศัยแรงงานร่วมกับเครื่องจักรขนาดเล็ก สูงถึง 72.33% และทำธุรกิจ แบบยุค 1.0 โดยใช้แรงงานเป็นหลัก 22.82% ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 23.40% ส่วนธุรกิจขนาดกลาง เหลือการทำธุรกิจแบบยุค 1.0 เพียง 2.38%

เมื่อถามถึงความสำคัญของเทคโนโลยี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สูงถึง 42.28% บอกว่า สำคัญมาก ส่วนที่บอกว่าไม่สำคัญเลย มีเพียง 3.28% บ่งบอกว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความตื่นตัว และต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับธุรกิจ ส่วนการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วในปัจจุบัน อยู่ระดับปานกลาง 50.73% ซึ่งเหตุผลที่ใช้เทคโนโลยี เช่น สะดวกและรวดเร็ว 19.67% ควบคุมการผลิตได้ง่าย 18.41% และผลผลิตมีมาตรฐาน 14.19 เป็นต้น ส่วนเหตุผลที่ไม่ใช่เทคโนโลยี เช่น ค่าใช้จ่ายสูง 30.49% ไม่มีความจำเป็น 25.46% และเห็นว่าใช้แรงงานคนอย่างเดียวนั้นดีอยู่แล้ว 21.78% เป็นต้น
 

สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ทำธุรกิจอยู่ตอนนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 73.12% บอกว่า ด้อยกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ ดังนั้น 71.92% จึงมีแผนจะลงทุนเทคโนโลยีใหม่เพิ่มในระยะเวลาเร็วๆ นี้ เพราะเชื่อว่า จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสการเจริญเติบโตของธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจมีความทันสมัย ควบคุมการผลิตได้มาตรฐาน ช่วยขยายฐานลูกค้า และบริหารจัดการได้ดี เป็นต้น ซึ่งแหล่งเงินทุนที่จะใช้ กลุ่มตัวอย่าง 68.61% บอกว่า ใช้วิธีกู้ยืมจากแหล่งต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์/รัฐบาล ญาติพี่น้อง เป็นต้น นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 47.35% บอกว่า เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อธุรกิจมาก

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของกลุ่มตัวอย่าง ปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลาง 53.82% ซึ่งส่วนใหญ่ถึง 43.73% เชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีความสำคัญมาก

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อดำเนินธุรกิจ คือ 1.จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า 2.ให้ความรู้/จัดอบรม ข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ 3.ช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 4.ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิตและนวัตกรรมใหม่ๆ

ส่วนปัญหาและอุปสรรคใหญ่ในการประกอบธุรกิจ ด้านการผลิต คือ ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ด้านแรงงาน คือ ค่าจ้างแรงงานสูง ด้านการตลาด คือ ระบบโลจิสติกส์ ด้านการเงิน คือ ขาดสภาพคล่อง ด้านความรู้และเทคโนโลยี/นวัตกรรม คือ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และด้านนโยบาย/มาตรการภาครัฐ คือ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ (การเข้าถึงสินเชื่อ)

สำหรับความต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายและมาตรการนั้น ได้แก่ 1.ด้านเงินลงทุน 38.25% 2.ด้านเทคโนโลยี/นวัตกรรม 27.04% 3.ด้านมาตรการภาษี 18.94% 4.ด้านการจัดอบรมความรู้ 10.60% 5.ด้านวิจัยและพัฒนา 3.06% และ 6.ด้านกฎข้อบังคับต่างๆ 2.11%

ขณะที่สิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ได้แก่ จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายกระจายสินค้า การลดต้นทุนในการผลิต สร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า การจัดสรรทรัพยากรบุคคลและการบริหารจัดการ และความรู้/ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ส่วนข้อเสนอที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) ได้แก่ ต้องการให้ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีขั้นตอนในการขอสินเชื่อที่สะดวกและง่ายขึ้น และส่งเสริมเงินทุนในการส่งออกและกระจายสินค้า

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวถึงผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้ความสำคัญและสนใจที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งเครื่องจักร นวัตกรรม ตลอดจน เทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยยกระดับธุรกิจ เพราะเชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้อย่างสูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านลดต้นทุน ควบคุมการผลิตได้มาตรฐาน ช่วยขยายตลาดไปสู่สากล เป็นต้น

จากความต้องการดังกล่าว ธพว. จึงวางยุทธศาสตร์การทำงานมุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยผ่านการให้บริการเงินทุนคู่ความรู้ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นเพียง 1%ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปลงทุนเครื่องจักร เทคโนโลยี ซึ่งสามารถยื่นกู้ง่ายๆ ผ่านแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ ตลอด 24×7 หมายถึง 24 ชั่วโมง 7 วัน ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ซึ่งพนักงานธนาคาร ยึดรหัส 8-8-7 คือ ให้บริการตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม (8:00-20:00น.) ตลอด 7 วัน ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย สะดวก ทุกเวลา และทุกสถานที่ รวมถึง ในแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ รวบรวมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) มากกว่า 150 รายการ และคลังข้อมูลความรู้ (e-Library) มากกว่า 1,000 ประโยชน์ ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเรียนรู้ก้าวทันเทคโนโลยียุคใหม่ได้ด้วยตัวเอง

อีกทั้ง จัดกิจกรรม และโครงการต่างๆ เติมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อเนื่อง เช่น โครงการ “ปักหมุด ธุรกิจติดดาว by SME D Bank” พาผู้ประกอบการชุมชน 70,000 ราย มีตัวตนบนโลกการค้าออนไลน์ จัดสัมมนาให้ความรู้การทำตลาดออนไลน์ต่อเนื่อง พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปให้เก็บรักษาได้ยาวนานเหมาะขายออนไลน์ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการไก่ย่างเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ซื้อเครื่องบรรจุสุญญากาศ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ให้บริหารตลาดออนไลน์ อย่าง Shopee และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ให้ความรู้และพาขยายตลาดต่างแดน เช่น จีน ฮ่องกง และอินเดีย เป็นต้น รวมถึง แนะนำสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปไทยผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมียอดพบเห็น (Reach) จากทั่วโลกมากกว่า 1.2 ล้าน Reach ต่อเดือน เป็นต้น

“ยุทธศาสตร์การทำงานของ ธพว. เปรียบเหมือนการสร้างถนนสายดิจิทัลสำหรับเอสเอ็มอีไทย ซึ่งถนนเส้นนี้จะมีปัจจัยแวดล้อมพร้อมทุกด้านที่จะพาเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่การยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็ง เติบโต อยู่รอด และยั่งยืนได้ในโลกการค้ายุคปัจจุบันและอนาคต” นายมงคล กล่าว

นอกจากนั้น ธพว. จะนำข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ รวมถึง ขั้นตอนการให้บริการ เพื่อตอบความต้องการผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ได้อย่างดีที่สุด



 

แหล่งที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-255913
วันที่ลงข่าว : 26 พ.ย. 2561
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting