หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ไทยพาณิชย์คาดส่งออกปีหน้าดีขึ้นตามแนวโน้มของศก.สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป
 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์ "ส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน มูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน" ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.1%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 8.6%YOY ดุลการค้าขาดดุล 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การส่งออกไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกของไทยยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยการหดตัวในเดือนพฤศจิกายนนั้น นับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งนอกจากอัตราการขยายตัวที่ติดลบแล้ว มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนยังเป็นมูลค่าที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาอีกด้วย
    
การส่งออกไปยังอาเซียนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนห้า (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดถึง 17% หดตัวค่อนข้างมากประมาณ 10.3%YOY ในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและสิงคโปร์ที่หดตัวเฉลี่ยถึง 18%YOY ส่งผลให้การส่งออกไปยังอาเซียนทั้งหมด 9 ประเทศหดตัว 2.2%YOY นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดหลักอย่าง จีน สหรัฐฯ และยุโรปยังขยายตัวได้ในระดับดี นอกจากนี้การส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและรุนแรงในช่วงก่อนหน้าเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยมูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนมากกว่าในช่วงไตรมาส 3 ประมาณ 121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมากกว่าเดือนก่อนหน้าถึง 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 7%
   
การส่งออกทอง เหล็ก และรถยนต์ เป็นสาเหตุหลักของการหดตัวในเดือนพฤศจิกายน โดยการส่งออกทองและเหล็กหดตัวอย่างรุนแรงถึง 63.2%YOY และ 54.5%YOY ตามลำดับ โดยการส่งออกเหล็กที่หดตัวรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าจากการส่งออกไปยังประเทศนอร์เวย์ซึ่งไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของเหล็กไทย โดยหากไม่รวมนอร์เวย์ การส่งออกเหล็กจะหดตัวประมาณ 17%YOY ขณะที่การส่งออกรถยนต์ไปยัง 2 ตลาดหลักอันได้แก่ออสเตรเลียและอินโดนีเซียยังคงหดตัว โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งหดตัวราว 40%YOY อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าหลักที่เคยเป็นปัญหาในช่วงก่อนหน้าอย่างคอมพิวเตอร์และยางพาราปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยในเดือนพฤศจิกายนการส่งออกคอมพิวเตอร์ขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ยางพาราขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
   
 การนำเข้ายังคงหดตัว การนำเข้าหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงจากการเร่งนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วงปลายปีก่อนหน้า โดยการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบหดตัวถึง 30.7%YOY นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องจักรยังคงมีมูลค่าในระดับต่ำและหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่ลดลงตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังเปราะบาง และการส่งออกที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ
    
ดุลการค้าขาดดุล 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากไม่รวมทอง ดุลการค้าจะเกินดุลประมาณ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

EIC มองการส่งออกจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แม้ว่าการส่งออกในช่วงปลายปีจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าอยู่ในระดับต่ำจนอาจทำให้การส่งออกในปี 2013 มีโอกาสสูงที่จะไม่ขยายตัว แต่การส่งออกในปี 2014 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจในกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป) โดยการส่งออกในสามสินค้าหลักของไทยอันได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ดี
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 26 ธ.ค. 2556
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting