หน้าแรก
|
เกี่ยวกับหน่วยงาน
|
อัลบั้มภาพ
|
ติดต่อเรา
|
สมาชิก
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งเหว โอดต่ำสุดในรอบ 25 เดือน ปี 56 ยอดผลิตรถพลาดเป้า
ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมส่งท้ายปี 2556 ดิ่งเหว ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 1 เดือน เอกชนกังวลความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง วอนทุกฝ่ายหาทางออกโดยเร็ว ด้านการผลิตรถยนต์หลุดเป้าหมายที่ 2.25 ล้านคัน คาดปี 2557 ตลาดโลกฟื้นเตรียมปรับสัดส่วนไปส่งออกให้มากขึ้น
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.2556 อยู่ที่ระดับ 88.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 90.3 ในเดือน พ.ย.2556 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2554 เนื่องจากผู้ประกอบการทุกกลุ่มยังกังวลความขัดแย้งทางการเมือง และมองว่าความไม่สงบทางการเมืองไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งปัญหาการเมืองส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่ชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าดัชนีในเดือน ธ.ค.นี้
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือน พ.ย.2556 หลังจากที่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมลดลง ยอดขายรวมลดลง แต่ต้นทุนผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองด้วยสันติวิธีโดยเร็วที่สุด รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมทั้งให้บริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
ส่วนการปิดพื้นที่กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. แม้จะยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ทั้งการทำธุรกรรมและการขนส่งสินค้า ทำให้มีต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวปฏิบัติตามแผนสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ปรับเส้นทางการขนส่งสินค้า ย้ายสถานที่ทำงานและหาท่าเรือสำรองสำหรับการส่งออก หากยืดเยื้อก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีต้นทุนในการดำเนินกิจการน้อย จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็วที่สุด
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2556 ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากเดิมที่คาดว่าจะผลิตได้ 2.55 ล้านคัน แต่สามารถผลิตได้เพียง 2.4 ล้านคัน เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกได้สิ้นสุดลง ส่วนการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยปี 2556 ที่ผ่านมาส่งออกได้ 1.1 ล้านคัน และปี 2557 นี้คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทั้งตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดใหม่แถบอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ทำให้ต้องปรับสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ เป็นการส่งออกมากขึ้น โดยมีสัดส่วนการส่งออก 51-52% ที่เหลือเป็นการจำหน่ายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายรถยนต์ยังสามารถจำหน่ายได้ต่อเนื่อง จากการจัดกิจกรรมการขายของค่ายรถยนต์ต่างๆ รวมทั้งมหกรรมยานยนต์ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.2557 นี้.
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์ไทยโำำพสต์
วันที่ลงข่าว :
17 ม.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล:
[email protected]
หน้าแรก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
ข่าวและกิจกรรม
งานวิจัย
บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ
ดัชนี
หอการค้าโพลล์
AEC
สถิติ
ดาวน์โหลด
อัลบั้มภาพ
ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting