หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
กสิกรไทยชี้'การเมือง-ตัวแปรศก.'ชี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะถัดไป
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ กนง.คงอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องจับตาตัวเลขและเหตุการณ์สำคัญ ก่อนชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียของการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมถัดไป
        คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในการประชุมรอบแรกของปี 2557 (วันที่ 22 ม.ค. 2557) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นต่อเนื่องจากช่วงท้ายปี 2556 กอปรกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง. ในระยะหลังจากนี้ จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการพิจารณาระหว่างความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินเป็นกลไกหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจ ท่ามกลางกลไกทางการคลังที่เผชิญข้อจำกัด กับเงื่อนไขต้นทุนด้านเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป คงจะขึ้นกับพัฒนาการของปัจจัยทางการเมืองและตัวแปรทางเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ

กนง. มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย แต่ไปข้างหน้า ยังต้องคำนึงถึงตัวแปรหลายด้าน
         จากแถลงการณ์ผลการประชุม กนง. ในรอบนี้ พบว่า กนง. มีมุมมองต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในลักษณะที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยแม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มสดใสขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลัก แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่เสื่อมถอยลง อันเกิดจากปัจจัยทางการเมืองซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งเมื่อพิจารณาผลการลงมติของ กนง. พบว่า คะแนนเสียงของ กนง. ไม่เป็นเอกฉันท์และค่อนข้างก้ำกึ่งกัน โดยมีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อเนื่อง รวมถึงการที่ ธปท.เตรียมจะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2557 นี้ลง  ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ท่าทีเชิงนโยบายการเงินของ กนง. นับจากนี้ จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย เป็นสำคัญ
         ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนนับจากนี้ จะมีเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งทางด้านการเมืองและการเผยแพร่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปี 2556 การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ รวมถึงรายงานจีดีพี ไตรมาส 4/2556 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีน้ำหนักในการบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปที่ชัดเจนขึ้น อันทำให้ทิศทางเชิงบวกและลบที่จะปรากฏขึ้น ย่อมมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ กนง.      อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมนับจากนี้ ก็ต้องคำนึงประเด็นเชิงเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ ค่าเงินบาท การก่อตัวของฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยง และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งคณะกรรมการแต่ละท่านคงต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าว อันถือว่าเป็นต้นทุนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้ อย่างถ้วนถี่มากขึ้น  
         หากปัจจัยเหล่านี้สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ กนง. จะให้น้ำหนักกับการรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ไม่ว่าจะเป็นในการประชุมฉุกเฉินหรือการประชุม กนง. รอบถัดไป เพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว และเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจ แม้ว่าอาจคาดหวังประสิทธิผลเชิงนโยบายได้ไม่ชัดเจนนักก็ตาม
         อย่างไรก็ดี หากปัจจัยทางการเมืองและตัวแปรทางเศรษฐกิจไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เงื่อนไขต้นทุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในความกังวล ก็คาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% อย่างต่อเนื่องอีกสักระยะ อันเป็นการรักษาวินัยทางการเงินและเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนจุดยืนเชิงนโยบาย เมื่อข้อมูลเศรษฐกิจและการเมืองไทยในระยะข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบหรือบวกที่ชัดเจนมากขึ้น
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 23 ม.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting