หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
BOI โวยชัตดาวน์ทุบลงทุนหด ขอส่งเสริมลดลง5แสนล. ตั้งโรงงานใหม่เหลือ 30%
 อุตฯ ระบุชัตดาวน์กรุงเทพฯ กระทบยอดจัดตั้งโรงงานหดตัว ชี้มายื่นขอตั้งโรงงานแค่ 30% ของปริมาณการขออนุญาตในช่วงปกติ บีโอไอคาดหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปอีก 3-4 เดือน ประเทศคู่แข่งอาจฉวยโอกาสเข้ามาดึงนักลงทุนจากไทย เผยตั้งบอร์ดบีโอไอไม่ได้ ทำยอดขอส่งเสริมค้างกว่า 370 โครงการ มูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท
    นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. "ปิดกรุงเทพ" 13 ม.ค.2557 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามายื่นเรื่องขออนุญาตต่างๆ ได้ประมาณ 30% ของปริมาณการขออนุญาตปกติ ส่งผลให้ยอดการตั้งโรงงานเดือน ม.ค.2557 ลดลง และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือน ธ.ค.2556 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบทางการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจตั้งโรงงานใหม่ โดยมีการขอตั้งโรงงาน 254 แห่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 331 แห่ง หรือ ลดลง 23.26% ในทุกกิจการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งเป็นกิจการที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)  ลงทุนมากที่สุด
    ทั้งนี้ การจ้างงานอยู่ที่ 5,905 คน ลดลงจาก 6,334 คน หรือลดลง 6.77% โดยมีมูลค่า 8,547 ล้านบาท ลดลงจาก 12,009 ล้านบาท หรือลดลง 28.82% ยอดขยายกิจการจากการลงทุนที่มีอยู่เดิมอยู่ 30 แห่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2556 จำนวน 46 แห่ง หรือลดลง 34.78% จ้างงานเพียง 1,877 คน ลดลงจาก 11,185 คน หรือลดลง 82.22%
    โดยหลังจากเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ กรมโรงงานจะเร่งดำเนินงานอนุมัติใบอนุญาตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การลงทุนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ กรมฯ กำลังติดตามผลกระทบ โดยเฉพาะกิจการเอสเอ็มอี ซึ่งเปิดช่องทางรับข้อมูลปัญหาของผู้ประกอบการเพื่อพิจารณาช่วยเหลือ แต่เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กปปส.มากนักเพราะไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต แต่อาจมีผลกระทบต่อการขายสินค้า จนกระทบต่อภาคการผลิต
    นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การประกาศยุบสภา ทำให้กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชะงักลง เพราะต้องเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ารัฐบาลรักษาการสามารถตั้งบอร์ดชุดใหม่ และสามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน 370 โครงการที่รอขออนุมัติจากบอร์ดบีโอไอ มูลค่าโครงการเกือบ 5 แสนล้านบาท 
    ส่วนผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองนั้น หากยืดเยื้อไป 3-4 เดือน ประเทศคู่แข่งการลงทุนอาจฉวยโอกาสเข้ามาดึงดูดนักลงทุนที่วางแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ ภายใน มี.ค.2557 นี้ บีโอไอจะนำข้อมูลทุกด้านมาประเมินอีกครั้งว่านักลงทุนได้รับผลกระทบด้านใดบ้าง และจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการให้ความช่วยเหลืออย่างไร
    อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าปี 2557 นี้ จะมีผู้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามเป้าหมาย 9 แสนล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2556 โดยเฉพาะเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมือง แต่จำนวนผู้ประกอบการที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ยอดการขอรับการส่งเสริมฯ ทั้งปีทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศไม่กังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองปี 2557 นี้ แม้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงต้นปี 2557 เชื่อว่านักลงทุนยังไม่กังวลมากนัก เพราะหากไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเดินขบวนเรียกร้อง.
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโำำพสต์
วันที่ลงข่าว : 11 ก.พ. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting