หน้าแรก
|
เกี่ยวกับหน่วยงาน
|
อัลบั้มภาพ
|
ติดต่อเรา
|
สมาชิก
หนี้ประเทศท่วมแตะ 45.71% จีดีพี 56โตต่ำแค่ 2.9% ลุ้นปีนี้ส่งออกช่วยค้ำ
สบน.แจงเดือน ธ.ค.56 หนี้สาธารณะคงค้างท่วมแตะ 45.71% กระฉูดเพิ่ม 5.63 หมื่นล้านบาท สภาพัฒน์แจงปี 56 จีดีพีทรุดเหลือ 2.9% พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปี 57 ลุ้นโต 3-4%
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2556 ว่า มียอดหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 5.44 ล้านล้านบาท หรือ 45.71% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 5.63 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าโดยเป็นหนี้ต่างประเทศ 3.69 แสนล้านบาท หรือ 6.77% และหนี้ในประเทศ 5.08 ล้านล้านบาท หรือ 93.23% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 5.29 ล้านล้านบาท หรือ 97.14% และหนี้ระยะสั้น 1.55 แสนล้านบาท หรือ 2.86% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
โดยเป็นหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 5.44 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ของรัฐบาล 3.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.95 หมื่นล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.08 ล้านล้านบาท ลดลง 4.29 พันล้านบาท ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 5.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ของหน่วยงานอื่นของรัฐอยู่ที่ 834 ล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ว่า มีการขยายตัวเพียง 0.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวสูงถึง 19.1% หลังจากอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลง 4.5% เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น ขณะที่การลงทุนรวมลดลงถึง 11.3% ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน ขณะที่การส่งออกลดลง 1% ทำให้ทั้งปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.9% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ 3%
สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2556 ที่ขยายตัว 2.9% ถือว่า ชะลอตัวค่อนข้างมากจากปีก่อนที่ขยายตัว 6.5% เนื่องจากมีฐานที่สูงกว่าปกติ เป็นผลจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ส่วนช่วงปลายปีความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวเพียง 0.2% การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.8% และการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐก็ชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกยังชะลอตัว โดยทั้งปีมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 225,397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.2% ส่งผลให้การผลิตทุกสาขาชะลอลง แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีประมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกว่า 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.6% ก็ตาม
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ยังระบุอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3-4% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งการขยายตัวจากภาคการส่งออก มีโอกาสเติบโตได้ถึง 5-7% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเพียง 3%
“เศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้คาดว่าข้อจำกัดของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนตัวจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่า 4-5% ที่เคยประมาณการไว้ เนื่องจากความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วง 1.9-2.9% ประกอบกับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่มาก การว่างงานยังไม่เกิน 1% ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขาดดุล 0.2% ต่อจีดีพี ลดลงจากปี 56 ที่ขาดดุล 0.6% ต่อจีดีพี” สภาพัฒน์ระบุ
ทั้งนี้ ในแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2557 นั้น รัฐบาลควรเร่งรัดการส่งออกให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย.
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์ไทยโำำพสต์
วันที่ลงข่าว :
18 ก.พ. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล:
[email protected]
หน้าแรก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
ข่าวและกิจกรรม
งานวิจัย
บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ
ดัชนี
หอการค้าโพลล์
AEC
สถิติ
ดาวน์โหลด
อัลบั้มภาพ
ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting