หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
คลังหน้ามืดรีดภาษีสินค้ามือสอง ประเดิมเก็บ 'รถยนต์' สรรพสามิตหาช่องเพิ่ม
 สรรพากรย่องถก รมช.คลัง หารือแนวทางรีดภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้ามือสอง ประเดิมที่รถยนต์ 
หวังช่วยดันรายได้เพิ่มสรรพสามิตเล็งรีดภาษีโทรทัศน์-กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล 
    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้เข้าหารือเรื่องการจัดเก็บภาษีแวตรถยนต์มือสองกับ นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.การคลัง เรียบร้อยแล้ว  โดยตามหลักการเบื้องต้นสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้  เพราะเป็นภาษีที่เกิดจากการซื้อขายจึงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.แต่อย่างใด และที่ผ่านมาสรรพากรก็มีนโยบายในการจัดเก็บภาษีแวตจากการซื้อขายสินค้ามือสองอยู่แล้ว แต่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซื้อขายกันในรูปแบบของการฝากขาย ทำให้ไม่มีการออกใบกำกับภาษี
    นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ยืนยันว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาขั้นตอนในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สินค้ามือ 2 จริง โดยในหลักการจะเก็บจากสินค้ามือสองทุกประเภท เนื่องจากตลาดดังกล่าวมีมูลค่าสูง  แต่เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการที่รถยนต์มือสองก่อน เพราะดำเนินการได้ง่ายที่สุด และก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการแล้ว และไม่มีการขัดข้อง เพียงแต่อยากให้ชะลอแนวคิดดังกล่าวออกไปก่อน เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี
    ทั้งนี้ แนวทางในการจัดเก็บภาษีแวตรถยนต์มือสอง จะคิดจากส่วนต่างของราคาในการซื้อขาย และจากข้อมูลทั้งหมดพบว่าตลาดรถยนต์มือสองในแต่ละปีมีการโอนเปลี่ยนมือกันปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคัน สำหรับรถยนต์ทุกประเภท ดังนั้นกรมจะเข้าไปดูแลในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเชื่อว่าจากกรณีดังกล่าวจะช่วยทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น เพราะสามารถดึงเม็ดเงินที่อยู่นอกระบบกลับเข้าสู่ระบบได้ ถือเป็นการขยายฐานภาษีแวตได้อีกทางหนึ่งด้วย
    “ตอนนี้กำลังเร่งศึกษารายละเอียดในการดำเนินการอยู่ คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยการจัดเก็บภาษีแวตรถยนต์มือสองนั้น จะอิงกับการดำเนินการของประเทศอังกฤษทั้งหมด”  นายสุทธิชัย กล่าว
    นายสุทธิชัยกล่าวอีกว่า ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเร่งหารือในรายละเอียดกับกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง เพราะบางขั้นตอนต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้เพื่อให้ทันเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณา
    ด้าน นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล (เซตท็อปบ็อกซ์) เนื่องจากคาดว่าสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและผู้บริโภคที่ต้องการรับชมทีวีดิจิทัล ส่งผลให้โทรทัศน์รุ่นเก่าที่เป็นระบบอะนาล็อก มีแนวโน้มลดลงและกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้อาจเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมได้
    ทั้งนี้ กรมจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสินค้าประเภททีวี ทั้งระบบอะนาล็อกและระบบดิจิทัล รวมทั้งกล่องรับสัญญาณเข้าข่ายที่ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หากเข้าข่ายกรมก็เข้าไปดูแลให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
    นอกจากนี้ กรมอาจทบทวนการจัดเก็บภาษีเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากเห็นว่าการปรับลดภาษีเพื่อลดภาระให้ผู้บริโภคไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับลดราคาเครื่องปรับอากาศลง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เห็นว่าเป็นสินค้าจำเป็นในครัวเรือน จึงได้ลดภาษีลงจากที่จัดเก็บ 10%.
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
วันที่ลงข่าว : 7 พ.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting