หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ธปท.ระบุเศรษฐกิจอีสานมี.ค.ยังชะลอตามการบริโภคภาคเอกชน
 ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักภาคอีสานแจงตัวเลขภาวะเศรษฐกิจมีนาคมชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าตามภาคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวเร่งมาอยู่ที่ 2.66% อัตราว่างงานต่ำอยู่ที่ 10% ขณะที่ไตรมาสที่ 1/57 ยังคงชะลอตัวจากไตรมาส 4/56

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 57 โดยระบุว่า ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนลดลง เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ และสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนยังคง หดตัวจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การค้าปลีกสินค้าคงทนหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อตามแนวชายแดนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังเพิ่มขึ้นตามการโอนเงินอุดหนุนให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นบ้างมาอยู่ที่ 2.66% ตามราคาสินค้าราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงหุงต้มที่ปรับราคาสูงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.78% สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้าน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.0

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.3% และลดลงต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 29.8% จากผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 10.3% และลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 50.5% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 51.5% ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.8% และยังคงลดลงต่อเนื่อง ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงชะลอการลงทุนไปก่อน ประกอบกับไม่มั่นใจในกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในระยะต่อไปมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีเป็นต้นมา

ขณะที่แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.7% จากการโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. และรายจ่ายในหมวดเงินเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งถึงแม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนบ้างแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติ ขณะที่รายจ่ายลงทุนลดลงจากรายจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นสำคัญ ส่วนภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 619.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.9% และขยายตัวจากเดือนมกราคม ส่วนหนึ่งจากเงินฝากของส่วนราชการเพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อคงค้าง 783.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 17.6% แต่ชะลอลงต่อเนื่อง เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี สินเชื่อเพื่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีในธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีเงินฝากคงค้าง 347.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.4 แต่ชะลอลงจากเดือนมกราคม ตามเงินฝากธนาคารออมสินเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้าง 950.5 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 5.3% แต่ชะลอลงต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของสินเชื่อเกือบทุกธนาคาร

ส่วนภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/57 นั้น ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 56 เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนลดลง ตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง สอดคล้องกับภาคการค้า โดยเฉพาะการค้ารถยนต์ลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากเงินโอนภาครัฐ และการค้าตามแนวชายแดนที่ยังคงเกินดุล สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.55 เร่งตัวขึ้นบ้างจากราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงหุงต้ม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.74% สูงขึ้นจากไตรมาสก่อน สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.0% ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 0.6%

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 608.7 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.4% แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากเงินฝากทุกประเภท ด้านสินเชื่อคงค้าง 788.1 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.2% แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเริ่มมีข้อจำกัด สำหรับสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจแม้จะชะลอลง แต่สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจบางกลุ่มยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งวัสดุที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจผลิตแป้งมัน สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 369.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.5% และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้านสินเชื่อคงค้าง 956.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.5% และขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน จากสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เป็นสำคัญ
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 2 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting