หน้าแรก
|
เกี่ยวกับหน่วยงาน
|
อัลบั้มภาพ
|
ติดต่อเรา
|
สมาชิก
กสิกรไทยชี้ผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้จ่ายผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ สินเชื่อส่วนบุคคลปี’57: ผลสำรวจสะท้อนแนวโน้มธุรกิจที่ยังเติบโต และความพยายามในการบริหารหนี้ของลูกหนี้
ประเด็นสำคัญ
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล เฉพาะกับธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ภายใต้การกำกับของ ธปท. จำนวน 500 คนในกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในปี 2557 อันทำให้ธุรกิจนี้น่าจะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง
• นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ใช้จ่ายผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้วในปัจจุบัน เลือกใช้สินเชื่อดังกล่าวเพื่อการบริโภค มากกว่าใช้เป็นเครื่องมือในการชำระคืนหนี้สินประเภทอื่นๆ
• ขณะเดียวกัน ผู้ตอบส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการหนี้ต่อรายได้ในแต่ละเดือนให้อยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล รวมถึงมีวินัยการชำระหนี้ที่ดี ซึ่งช่วยคลายความกังวลต่อสถานการณ์คุณภาพหนี้ของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้ในระดับหนึ่ง
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ความกังวลต่อปัญหาคุณภาพหนี้ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลก็เป็นหนึ่งในสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตสูงด้วยเลขสองหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อประเมินถึงความต้องการใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีระดับรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป ในกรุงเทพฯ จำนวน 500 คน ซึ่งใช้บริการเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และได้ผลที่น่าสนใจ สามารถสรุปได้ ดังนี้
ผู้ใช้บริการให้น้ำหนักกับความสะดวกในการขอสินเชื่อและชำระเงิน มากกว่าปัจจัยอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการสภาพคล่องของลูกค้า
เมื่อถามถึงปัจจัยที่มีความสำคัญกับการเลือกใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยหลักที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญต่อการเลือกใช้บริการสินเชื่อสูงสุด คือ ความสะดวกในการขอสินเชื่อ/เรียกใช้วงเงิน (50.0%) และความสะดวกในการชำระเงิน (42.2%) ขณะที่ ลูกค้าให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ย และโปรโมชั่นต่าง ๆ เป็นเรื่องรอง (29.2% และ 22.0% ตามลำดับ) อันตอกย้ำถึงความต้องการสภาพคล่องของลูกค้าเพื่อรองรับแผนการใช้จ่ายที่ตั้งใจไว้ จึงทำให้แรงจูงใจจากโปรโมชั่น ส่วนลด ของแถม หรือข้อเสนอด้านอัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดใจมีความสำคัญน้อยกว่าความสะดวก/รวดเร็วในการใช้วงเงินและช่องทางการผ่อนชำระเงินในแต่ละเดือนค่อนข้างมาก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการทำการตลาดของผู้ประกอบการที่มักชูจุดขายที่เน้นความรวดเร็วในการทราบผลการพิจารณาและอนุมัติวงเงินเป็นสำคัญ
ผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้จ่ายผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในปี 2557
สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2557 ปรากฎว่า 46.1% ของผู้ตอบทั้งหมด ยังเลือกที่จะใช้วงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลในวงเงินที่คงที่เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามมาด้วยกลุ่มที่เลือกใช้วงเงินเพิ่มขึ้น 36.6% เพื่อตอบสนองความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายประจำวันที่สูงขึ้นเป็นหลัก ขณะที่ อีก 17.4% ที่เหลือ เลือกลดการใช้วงเงิน ด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินก้อนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ จากกลุ่มผู้บริโภคที่เลือกจะยังใช้วงเงินสินเชื่อคงที่และเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 80% ดังกล่าว สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง อันน่าจะช่วยประคับประคองอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้ไว้ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลของผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ยังชี้ถึงความระมัดระวังและความพยายามในการสร้างสมดุลระหว่างค่าใช้จ่ายกับรายรับ
แม้ว่าสินเชื่อส่วนบุคคลมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ใช้บริการในการดำเนินชีวิตประจำวันในมิติต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมา มีความกังวลว่า เงื่อนไขการใช้งานของสินเชื่อประเภทนี้ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและปลอดหลักประกัน จะทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเลือกใช้สินเชื่อดังกล่าวเป็นทางออกเฉพาะหน้าในการชำระคืนหนี้สินประเภทอื่น ๆ ในยามที่ภาวะการเงินส่วนบุคคลฝืดเคือง ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อเท็จจริงที่เพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคล (28%) มีระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ ค่อนข้างมาก จึงอาจกดดันให้เกิดปัญหาการชำระคืนหนี้สินในลักษณะลูกโซ่ตามมาท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบสัญญาณที่ผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล พยายามสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย รวมถึงวินัยการชำระคืนหนี้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี นั่นคือ
การมุ่งใช้สินเชื่อเพื่อการบริโภค มากกว่าชำระคืนสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยมีสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อการบริโภค มากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 56.8% ทำให้เหลืออีก 43.2% ของผู้ตอบที่เคยใช้/ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับหมุนเวียนเงินเพื่อจ่ายชำระคืนหนี้สินอื่น ๆ โดย 3 อันดับแรก คือ รถ (28.9%) บัตรเครดิต (27.5%) และบ้าน (26.6%) ขณะที่ อีก 4.1% ใช้เพื่อชำระคืนหนี้นอกระบบ ซึ่งในส่วนหลังนี้ น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคมีสถานการณ์หนี้และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ใช้บริการ มีระดับหนี้ที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่ ผู้ใช้บริการยังมีวินัยการชำระคืนที่ดี โดยเมื่อประเมินศักยภาพของลูกหนี้จากการสัดส่วนภาระหนี้ที่ต้องผ่อนต่อเดือนเทียบกับรายได้ต่อเดือน (Debts to Income) พบว่า 64.0% ของกลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนดังกล่าวต่ำกว่า 50% (ซึ่งเป็นเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเบื้องต้นของผู้ให้บริการ) ซึ่งในจำนวนนี้ 78.9% เป็นผู้ใช้บริการที่มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ในช่วง 15,0001-50,000 บาทต่อเดือน นั่นหมายความว่า แม้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะเป็นหนี้หลายทาง แต่ก็ยังสามารถบริหารภาระหนี้ของตนในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยที่ไม่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
สำหรับอีก 36.0% ที่เหลือ ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงกว่าเกณฑ์ 50% (โดยน่าจะเป็นลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน และมีการก่อหนี้ประเภทอื่น ๆ เพิ่มระหว่างทาง จนทำให้ภาระหนี้ต่อรายได้ปัจจุบัน อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ดังกล่าว) นั้น ก็พบว่ามีวินัยการชำระคืนหนี้ที่ดี โดยลูกหนี้จำนวนไม่น้อย หรือ 45.6% เลือกชำระคืนเต็มจำนวน ซึ่งช่วยให้คลายความกังวลต่อสถานการณ์คุณภาพหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลลงได้ในระดับหนึ่ง
โดยสรุปแล้ว ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ใช้บริการธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ชี้ถึงโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่ยังคงมีอยู่ สอดคล้องกับทิศทางความต้องการใช้จ่ายผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2557 ขณะที่ แม้ข้อมูลจากผลสำรวจจะชี้ถึงภาวะที่ผู้บริโภคบางส่วนเผชิญภาวะหนี้สินหลายทางและเลือกใช้สินเชื่อส่วนบุคคลในการเสริมสภาพคล่อง ไปจนถึงชำระคืนหนี้สินอื่น ๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการ ก็ยังสามารถบริหารจัดการภาระหนี้ให้สอดคล้องกับระดับของรายได้ อีกทั้งมีวินัยการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ในช่วงประมาณ 15,001-50,000 บาท
ภาพจากผลสำรวจดังกล่าว ผนวกกับการติดตามดูแลลูกหนี้ของผู้ให้บริการ ก็น่าจะช่วยคลายความกังวลต่อปัญหาคุณภาพหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลลงไปได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังนั้น คาดว่าน่าจะมีแรงส่งมากขึ้น โดยเฉพาะหากทางการสามารถผลักดันการใช้จ่ายของภาครัฐให้ก้าวหน้าและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งอาจกระตุ้นให้ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลหันมาทำตลาดมากขึ้นเพิ่มเติมในช่วงปลายปี และทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลมีโอกาสขยายตัวสูงเข้าหา 9% ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งเป็นกรอบบนของช่วงประมาณการปัจจุบันที่ 6-9% ได้ แม้ว่าเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2556 ที่ 16.3% และสิ้นไตรมาส 1/2557 ที่ 12.9% จะยังเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงค่อนข้างมาก จากผลของฐานและปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชะลอลงในไตรมาส 1 และคาดว่าจะชะลอต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็ตาม
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว :
10 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล:
[email protected]
หน้าแรก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
ข่าวและกิจกรรม
งานวิจัย
บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ
ดัชนี
หอการค้าโพลล์
AEC
สถิติ
ดาวน์โหลด
อัลบั้มภาพ
ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting