หน้าแรก
|
เกี่ยวกับหน่วยงาน
|
อัลบั้มภาพ
|
ติดต่อเรา
|
สมาชิก
ม.รังสิตชี้ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว-คาดปีนี้โต1.5-2.5%
ม.รังสิตชี้เศรษฐกิจไทยนี้จะขยายตัวเป็นบวกได้แม้อัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกจะติดลบ ระบุเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว ยันเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5%
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในลดลงมากจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การรัฐประหารไม่นำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดและความขัดแย้งเพิ่มเติม จึงไม่เกิดทศวรรษแห่งความถดถอยในขณะนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นทางด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกระเตื้องขึ้น งบประมาณปี 2558 สามารถจัดสรรได้ตามกรอบเวลา ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรัก และความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และอาจทำให้ข้อตกลงทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือด้านต่างๆอาจต้องชะลอออกไปก่อนจนกว่าจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมในปีนี้น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ แม้อัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกจะติดลบก็ตามและเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในกรอบประมาณการเดิม 1.5-2.5% (ประมาณการเดิม -0.5-2.5%) ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิมมาอยู่ที่ระดับ 2-3% (ประมาณการเดิม 1.5-2%) ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังและปีหน้า นอกจากขึ้นอยู่กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภคและการส่งออกแล้วความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการลดความเหลื่อมล้ำเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ ความสามารถในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและมีเสถียรภาพของไทยยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการกำหนดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสันติสุขของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว
“หากประเทศไทยสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้จนก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบด้านและประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ประชาชนจะอยู่ในสภาวะใหม่ซึ่งมีคุณภาพชีวิตและประเทศจะเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจนหลังวิกฤติใหญ่ผ่านไป”
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงสภาวะตลาดการเงินหลังการรัฐประหารหนึ่งเดือนพบว่า กระแสเงินไหลออกไม่มากอย่างที่ประเมินไว้เดิม จึงมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยในช่วงแรกของการรัฐประหาร โดยหลังการรัฐประหารหนึ่งเดือนเงินบาทค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการทำรัฐประหาร คสช ซึ่งค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และอยู่ที่ 32.43 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยช่วงที่เหลือของปีเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงจากดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลงจากแรงกดดันของราคาพลังงานนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.41% (ดัชนีวันที่ 22 พฤษภาคม อยู่ที่ 1,405.01 วันที่ 20 มิภุนายน อยู่ที่ 1,467.29) หลังการรัฐประหารหนึ่งเดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเป็นขาลงเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกของการรัฐประหารเท่านั้น ส่วนสถานะของนักลงทุนต่างชาติ ยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึง 20 มิถุนายน 57 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 43,541 ล้านบาท โดยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสแตะระดับ 1,550 จุดได้ในปีนี้ หากการเมืองไทยยังคงมีเสถียรภาพและมาตรการเศรษฐกิจต่างๆสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลา
ขณะที่ในส่วนของตลาดตราสารหนี้พบว่า ครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับ 5.8 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันไหลออกสุทธิ 6.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ประเมินทั้งปีเงินไหลออกสุทธิไม่มาก โดยนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้สุทธิปัจจุบัน 6.45 แสนล้านบาท ตราสารหนี้ระยะยาว 85% ตราสารหนี้ระยะสั้น 15% สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย ยังคงหนุนให้เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีสหรัฐฯกับไทยต่างกันถึง 1.5%
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า คสช และ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาอันเกี่ยวเนื่องกับการที่ไทยถูกลดอันดับบัญชีค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับต่ำสุดอยู่ในระดับเดียวกับเกาหลีเหนือ ซีเรีย ซิมบับเว และเวเนซูเอลา การมีมาตรการรับมือล่วงหน้าอย่างเหมาะสมต่อการคว่ำบาตร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 90 วันนั้น จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและธุรกิจอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ ไทย ควรมียุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการต่อร่างกรอบข้อตกลง Trade in Service Agreement (TISA) ล่าสุดที่ผลักดันโดยสหรัฐอเมริการ และสหภาพยุโรป โดยเป็นข้อตกลงที่มีความเข้มข้นกว่าข้อตกลงภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) โดยจะเป็นข้อตกลงที่ให้มีการเปิดตลาดภาคบริการเต็มรูปแบบ ทั้ง ภาคการเงินการธนาคาร สาธารณสุข การศึกษา การสื่อสารโทรคมนาคม การบริการพื้นฐานโดยรัฐ และ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว :
23 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล:
[email protected]
หน้าแรก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
ข่าวและกิจกรรม
งานวิจัย
บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ
ดัชนี
หอการค้าโพลล์
AEC
สถิติ
ดาวน์โหลด
อัลบั้มภาพ
ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting