หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ส่งออกสิงคโปร์ผิดคาดนักเศรษฐศาสตร์คาดต้นทุนเมืองลอดช่องพุ่งดันโรงงานทยอยย้ายฐาน
 หลังจากเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปเริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้การส่งออกของประเทศในแถบอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาการส่งออกของสิงคโปร์ กลับติดลบสะท้อนให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเมืองลอดช่องที่ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปประเทศอื่น
    หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ส สิงคโปร์รายงานว่าตัวเลขการส่งออกสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคมที่ไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำมันติดลบ 6.6% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว สวนทางกับยอดส่งออกในเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
    ยอดการส่งออกที่ลดลง สร้างความประหลาดใจให้กับนักเศรษฐศาสตร์ ที่ คาดการณ์ว่าการส่งออกของสิงคโปร์น่าจะขยายตัว ตามการขยายตัวของภูมิภาคและทำนายก่อนหน้านี้ว่ายอดการส่งออกของสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม จะขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
    Dr. Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแบงก์ออฟอเมริกาเมอรัลล์ลินช์ กล่าวว่าการส่งออกของสิงคโปร์ไม่ได้เพิ่มขึ้นขณะที่ การส่งออกของประเทศมาเลเซียและไต้หวันขยายตัว โดยไต้หวันขยายตัว 1.4% เป็นการขยายตัวติดต่อกันเดือนที่ 4 ขณะที่มาเลเซียมียอดการส่งออกโตถึง 18.9% ในเดือนเมษายน โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
    สเตรตไทม์ส ระบุว่า การส่งออกของสิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงจนผิดปกติ เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้น โดยเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่ลดลงนั้นมาจากภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และมีรายงานว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 22 เดือนแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม ลดลงถึง 15.3%
    Dr. Chua ให้สัมภาษณ์สเตรตไทม์ส ว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีผลประทบให้โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทยอย ย้ายออกจากสิงคโปร์ไปประเทศที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ขณะเดียวกันมีนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทบาร์เคลย์สฯ อธิบายการลดลงของการส่งออกว่าเกิดจากวันหยุดยาวในประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้
    Mr. Leong Wai Ho นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ส ระบุว่าวันหยุดยาวในเกาหลีใต้และไต้หวันทำให้การผลิตในประเทศสิงคโปร์ต้องหยุดตามไปด้วย เพราะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน
    อย่างไรก็ดี คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ให้คำอธิบายถึงปรากฏการณ์ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงว่าเกิดจากปัจจัยเฉพาะจากผู้ประกอบการ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ตีความว่าอาจหมายถึงการย้ายโรงงานของบริษัทรายใหญ่
    ทางด้านสำนักงานวิสาหกิจนานาชาติสิงคโปร์ (IE Singapore) ระบุว่า สินค้าส่งออกที่ลดลงนั้นไม่ได้มีเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แต่สินค้าตัวอื่นได้ลดลงด้วย ยกเว้นสินค้าแผ่นซีดีและปิโตรเคมี โดยสินค้าที่ลดลงมากได้แก่สินค้าผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค ซึ่งลดลง 26.3% เครื่องจักรชนิดพิเศษลดลง 13.1% และอะไหล่และอุปกรณ์ อากาศยานลดลง 30.2% ไออี สิงคโปร์ระบุว่า การส่งออกในเดือนที่แล้วมียอดลดลงสำหรับ 10 ตลาดสำคัญของสิงคโปร์ ยกเว้นจีน มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยนาง Selena Ling นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโอซีบีซี กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกที่ลดลง แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังไม่มั่นคงแข็งแรง แม้เศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 30 มิ.ย. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting