หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
กสิกรไทยมองจีดีพีปีนี้โต 2.3% หลังเครื่องชี้ศก.มีสัญญาณบวกมากขึ้น
 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค. 2557 ทยอยมีสัญญาณบวกมากขึ้น

ประเด็นสำคัญ
    กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในเดือนพ.ค. 2557 ทั้งด้านการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยกำลังวกกลับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2/2557 อย่างไรก็ดี การส่งออกยังเป็นภาคส่วนที่การฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า
    การเข้ามาบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีนัยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการแก้โจทย์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ และการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณ น่าจะเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นมาที่ร้อยละ 3.3-4.7 (YoY) ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งดีขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่เศรษฐกิจเผชิญความยากลำบากในการขยายตัว
    สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2557 นั้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยจะต้องติดตามตัวแปรด้านบวกจากมาตรการเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้น และตัวแปรด้านลบที่อาจกระทบเส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด


กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ...กำลังทยอยปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า  
โมเมนตัมการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2/2557 ทั้งในฝั่งภาคเอกชนและภาครัฐ ที่สะท้อนผ่านการไล่ระดับขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยได้วกกลับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาสนี้ ขณะที่ บรรยากาศการใช้จ่ายภาคเอกชน และการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น น่าจะเอื้อให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทยอยมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

    การใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อาจสะท้อนว่า กลไกขับเคลื่อนด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาครัฐทำงานได้สอดประสานกันมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังวกกลับขึ้นจากจุดต่ำสุด โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (ที่ปรับฤดูกาล) ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ที่ร้อยละ 0.5 (MoM, s.a.) ในเดือนพ.ค. ขณะที่ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ที่ปรับฤดูกาล) พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.5 (MoM, s.a.) ในเดือนพ.ค. จากที่หดตัวร้อยละ 0.2 ในเดือนเม.ย. โดยสัญญาณการฟื้นของกิจกรรมการใช้จ่ายสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และการนำเข้าสินค้นทุน ณ ราคาคงที่ ขณะที่ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 62.0 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557

    การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาล ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ที่ร้อยละ 1.1 (MoM, s.a.) ในเดือนพ.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 (MoM, s.a.) ในเดือนเม.ย. ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่เพิ่มโอกาสการฟื้นของการส่งออกในบางอุตสาหกรรมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

    สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่นิ่งมากขึ้น หนุนบรรยากาศการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า (รายงานโดยธปท.) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 48.6 และ 53.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 44.3 และ 52.2 ในเดือนเม.ย. ตามลำดับ ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (รายงานโดยส.อ.ท.) ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนมาที่ 85.1 ในเดือนพ.ค. โดยมีองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ยอดขาย การผลิต และประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ก็ขยับขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ซึ่งสะท้อนว่า ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนมุมมอง และเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มในระยะข้างหน้าแล้ว  

    อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่หดตัวจากเดือนก่อนหน้าเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นทิศทางที่อ่อนแอกว่าที่คาด ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาล กลับมาหดตัวลงอีกครั้งที่ร้อยละ 1.6 (MoM, s.a.) ในเดือนพ.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 (MoM, s.a.) ในเดือนเม.ย. โดยถูกฉุดรั้งจากสัญญาณซบเซายาวนานของการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าประมง และสินค้าอุตสาหกรรม ที่หดตัวร้อยละ 2.2 ร้อยละ 6.4 และร้อยละ 2.0 (MoM, s.a.) ตามลำดับ  

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557: มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นอกจากการเข้ามาบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จะเป็นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของไทยแล้ว ยังมีนัยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีด้วยเช่นกัน เนื่องจากคสช. เร่งผลักดันแนวทางแก้โจทย์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ และวางรูปแบบการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ (Roadmap) เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ ผลบวกต่อเศรษฐกิจจากมาตรการของภาครัฐ อาทิ การเร่งอนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการดูแลค่าครองชีพ น่าจะเริ่มทยอยส่งผ่านมาที่ทิศทางการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ขณะที่ ความยืดหยุ่นของภาครัฐในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณ ทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำและรายจ่ายด้านการลงทุน ก็น่าจะทำให้มีแรงกระตุ้นเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเช่นกัน
    
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 มีโอกาสจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.3-4.7 (YoY) เนื่องจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน (สูงขึ้นจากที่เผชิญกับภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก) ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศ และภาคการส่งออก น่าจะสามารถทำงานได้สอดประสานกันมากขึ้น นอกจากนี้ หากสถานการณ์การเมืองในช่วงระหว่างการเดินหน้าปฏิรูปประเทศเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ก็อาจช่วยหนุนบรรยากาศในภาคการท่องเที่ยว และช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจให้ทยอยฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

สำหรับภาพรวมในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ไว้ที่กรอบร้อยละ 1.8-2.6 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 2.3) โดยจะติดตามรายละเอียดของมาตรการเศรษฐกิจของคสช. ที่น่าจะเริ่มทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ คงต้องยอมรับว่า ภาคการส่งออกที่ยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้า ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีด้วยเช่นกัน
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว : 1 ก.ค. 2557
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting