นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัว เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นและมีทุนจำกัด และ 39.77% มีการปรับตัวน้อย ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง และมีเพียง 13.12% ที่ปรับตัวอย่างมาก เพื่อจะยกระดับธุรกิจ ส่วนต้นทุนทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้น มาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน โดย 53.13% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาท ผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 5,754.52 บาท ทั้งนี้ ภาระหนี้ปัจจุบันทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่าภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ นายพงชาญ สำเภาเงิน รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนปีนี้ 30,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยต่ำผ่อนนานสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดำเนินธุรกิจให้อยู่รอด เติบโตและยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย