นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2562 พบว่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 80.6 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้บริโภคยังคงมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ จากการจัดตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว และกำลังซื้อก็ยังไม่กลับมา รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกด้วย ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ประชาชนระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ 3.8% รวมถึงความวิตกกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจในอนาคต แม้ว่าจีนกับสหรัฐยังอยู่ในช่วงเจรจายุติปัญหาสงครามการค้า ประกอบกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑลรวมถึงภาคเหนือมีผลกับการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ โดยการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยเดียวในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 67.6 โอกาสในการหางานทำอยู่ที่ระดับ 75.8 และรายได้ในอนาคตลดลงอยู่ที่ระดับ 98.4 โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจในเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
อย่างไรก็ตามศูนย์พยากรณ์ฯ มีความเป็นห่วงสถานการณ์ความเชื่อมั่นจะปรับตัวเป็นขาลง เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกมากระตุ้น โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกรัฐบาลชุดปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันนโยบายในการพยุงเศรษฐกิจให้สามารถรักษาเสถียรภาพไว้ให้ได้ จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน
โดยทางศูนย์พยากรณ์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.5 ครึ่งปีหลังหากการเมืองมีเสถียรภาพ ยอมรับกติกาการเลือกตั้ง คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.7-4 โดยทั้งปีหอการค้าไทยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-3.8 และคาดการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4