นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีผู้มีรายได้ต่ำกว่า15,000 บาท จาก 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศพบว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่ 95 % ยังมีภาระหนี้ โดยเป็นการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งโดยเฉลี่ยมีภาระหนี้ 158,855 บาทต่อครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% เทียบกับปีก่อน แยกเป็นหนี้ในระบบ 58.2 % และนอกระบบ 41.8 % ขณะที่วันแรงงานแห่งชาติปีนี้ มีเงินสะพัด 2,232 ล้านบาท ขยายตัว 1.8% เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ทั้งนี้แรงงานส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 -15,000 บาท โดย 86.2% ยังไม่มีเงินออม ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงานไทยยังประสบกับปัญหาาผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีคาใช้จ่ายเดือนชนเดือน และรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยมองว่าเศรษฐกิจในประเทศยังทรงตัวและเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน มีความเหมาะสมในระดับปานกลางเท่านั้น จึงอยากให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะไม่ได้ตามที่คาดหวัง แต่อย่างน้อยก็ปรับเพิ่มให้เท่ากับค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจแรงงานที่ออกมาถือว่าปีนี้แม้ลูกจ้างยังต้องการค่าจ้างแรงงานเพิ่ม แต่ทุกคนก็เข้าใจนายจ้างมากขึ้น เพราะหากปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มจะกระทบต่อนายจ้างและไม่เป็นผลดีกับลูกจ้างหากให้ออกจากงานการหางานใหม่จะลำบากมากในช่วงนี้ โดยต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องค่าแรงงานและสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย