นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมว่า คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่ายทั่วประเทศ 54,972 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เริ่มทำผลสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 5.2% จากปีก่อน เพราะผู้ปกครองซื้อสินค้าจำนวนชิ้นเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบุตรหลานด้านค่าเล่าเรียนผ่านบัตรคนจน ทำให้มีการนำเงินมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียนพิเศษแก่บุตรหลานเพิ่ม
ทั้งนี้ ในปี 62 ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและค่าหน่วยกิต เฉลี่ยคนละ 16,468 บาท ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ) 2,331 บาท ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนแปลงโรงเรียนใหม่หรือแป๊ะเจี๊ยะ เฉลี่ย 10,373 บาท ค่าหนังสือ 1,904 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 638 บาท ค่าเสื้อผ้า 2,048 บาท เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะสูงกว่าปีก่อนมาก โดยเฉพาะค่าแป๊ะเจี๊ยะ ที่เพิ่มจากปีก่อนประมาณ 500 บาท ส่วนหนึ่งมาจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และมีชื่อเสียง จึงยอมเพิ่มรายจ่ายเพื่อบุตรหลาน
สำหรับ คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ยังแตกต่างกันมาก ประกอบกับ ในปัจจุบันการแข่งขันทางการศึกษามีสูงมาก ผู้ปกครองจึงต้องยอมจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนที่ดีๆ แม้ผลสำรวจพบว่า มีผู้ปกครองเกือบ 40% มีเงินไม่เพียงต่อค่าเล่าเรียนบุตรหลาน แต่จะพยายามหาเงินด้วยการกู้เงินในระบบ นำของไปจำนำกับโรงจำนำรัฐบาล รวมถึงกู้เงินนอกระบบในกรณีที่วงเงินกู้ในบัตรเครดิตและบัตรอื่นๆ เต็มแล้ว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษเพิ่มต่อในปี 62 พบว่า อนุบาลเฉลี่ยที่ 3,933 บาทต่อคน ประถมศึกษา เฉลี่ย 8,455 บาทต่อคน มัธยมศึกษาตอนต้น 13,358 บาทต่อคน มัธยมศึกษาตอนปลาย 11,566 บาทต่อคน และมหาวิทยาลัย 23,458 บาทต่อคน โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ให้ลูกเรียนพิเศษ ให้เหตุผลว่าลูกเรียนในโรงเรียนไม่รู้เรื่อง, รองรับการแข่งขัน, ต้องการเกรดเฉลี่ยที่สูง, เพื่อเปลี่ยนโรงเรียน, เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียน เป็นต้น.