นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ในวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจโลกมีทิศทางค่อยๆ ปรับดีขึ้น แม้ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ผลกระทบจากการปิดดำเนินงานหน่วยงาน ราชการบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะมีจำกัด แต่ผลการเจรจาปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบเสถียรภาพภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรเริ่มเห็นการฟื้นตัวในหลายประเทศและความเชื่อมั่นปรับดีขึ้น เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวทั้งในภาคการส่งออก การผลิต และการลงทุนเช่นเดียวกับเศรษฐกิจเอเชียเหนือที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจอาเซียนมีแรงกระตุ้นภายในประเทศที่ชะลอลง กอปรกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศเริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นบ้าง ทำให้อาจได้รับผลกระทบจากภาวะการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มผันผวน จากความไม่ชัดเจนของช่วงเวลาในการทยอยปรับลดวงเงินการทำธุรกรรม QE และปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวช้ากว่าที่คาดแต่เริ่มทรงตัวและเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นใน บางภาค โดยการส่งออกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ในระยะต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายใต้ภาวะการเงินในปัจจุบันที่ยังผ่อนปรน แต่ยังคงมีความเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่อัตราการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอลงบ้าง คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่นโยบายการคลังแม้มีความล่าช้าออกไปบ้างแต่ยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงิน ที่ผ่อนคลายในปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุมธนาคารแห่งประเทศไทย