นางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เห็นชอบกับ“กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA : European Free Trade Association)” โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสาม จึงถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการจัดทำ EFTA ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันไปแล้ว 2 รอบ จากนั้นได้หยุดชะงักไป ซึ่งต่อมาฝ่ายสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปได้ขอให้มีการรื้อฟื้นการเจรจา โดยได้ยกขึ้นหารือในระดับผู้นำประเทศมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบกรอบการเจรจาฯแล้ว จากนี้ไปก็จะได้มีการสานต่อการเจรจาได้ นางจินตนา กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะมีการเจรจาเพื่อจัดทำ EFTA เพราะจะ เป็นการป้องกันไม่ให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต่อประเทศอาเซียนอื่นที่มี FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป คือ สิงคโปร์ รวมถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม หากไทยไม่เจรจาทำ FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป อาจทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศเหล่านี้ และอาจมีการย้ายฐานการลงทุนจากไทยไปยังประเทศอื่นที่มี FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป “EFTA ยังจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งสร้างโอกาสแก่ไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน ของสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปในอาเซียน ซึ่งถือเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นผู้ลงทุนในไทยสูงเป็นลำดับที่ 6” นางจินตนา กล่าวต่อว่า อีกทั้งยังจะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ ซึ่งให้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรกับสินค้าบางรายการ โดยในปี 2555 สินค้าไทยใช้สิทธิ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ประมาณร้อยละ 43 และของนอร์เวย์ประมาณร้อยละ 41 ซึ่งสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ หน้าปัดนาฬิกา ปลาทูน่ากระป๋อง ตัวเรือนนาฬิกา เพชรพลอยและส่วนประกอบ ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพดหวาน อาหารปรุงแต่งต่างๆ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น สำหรับสาระสำคัญของร่าง EFTA ประกอบด้วย 17 ประเด็น คือ 1) การค้าสินค้า 2) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน 6) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8) การค้าบริการ 9) การลงทุน 10) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 11) ทรัพย์สินทางปัญญา 12) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13) ความโปร่งใส 14) การแข่งขัน 15) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16) ความร่วมมือ และ 17) เรื่องอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในภาพรวม