หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
ดันพรก.ลดภาษีบุคคลธรรมดา 'เบญจา' ชี้รายได้หายไม่กระทบ
  ครม.ไฟเขียวคลอด พ.ร.ก.ปรับปรุงบัญชีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซอยขั้นถี่เพิ่มเป็น 7 ขั้น เมินรัฐสูญรายได้ 2.7 หมื่นล้านบาท ครม.อนุมัติมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมหนุนปรับโครงสร้างหนี้ 
    นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการออกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ... (มาตรการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีดังกล่าวสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิจากเดิม 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุด 37% เหลือ 35% และให้มีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557
    ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการประเมินว่าการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ลดลงราว 2.7 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2557 อย่างแน่นอน เนื่องจากได้มีการประเมินการสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว
    โดยการเร่งออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้น เพื่อให้ทันต่อการยื่นแบบภาษีในปี 2556 ที่จะมีการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในช่วงต้นปี 2557 เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานอาจไม่ทันการยื่นแบบภาษีในช่วงต้นปี 2557
    “การปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เป็นการลดอัตราภาษีในทุกระดับขั้นของภาษี โดยยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะได้รับประโยชน์มากที่สุดกว่า 50% ซึ่งในส่วนนี้เองก็จะไปช่วยทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และรัฐบาลก็จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ได้มากขึ้น”  นางเบญจากล่าว
    สำหรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ที่ใช้บังคับในปัจจุบันตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ระบุว่า ผู้ที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-300,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 5% โดยในส่วนนี้มีข้อยกเว้นว่าผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 300,001-500,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 10% ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 500,001-750,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 15% และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 20% ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 25% ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 2,000,0001-4,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 30% และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 4,000,0001 บาทต่อปีขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 35%
    ด้าน นายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมาตรการนี้จะช่วยทำให้ลูกหนี้สามารถฟื้นฟูกิจการและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งทำให้ต้นทุนของระบบสถาบันการเงินลดลง ทั้งนี้ มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมดังกล่าว ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้อื่นในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2556 - 31 ธ.ค.2557.
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโำำพสต์
วันที่ลงข่าว : 20 พ.ย. 2556
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting