หน้าแรก
|
เกี่ยวกับหน่วยงาน
|
อัลบั้มภาพ
|
ติดต่อเรา
|
สมาชิก
9 เดือนแรกแบงค์รัฐยังกำไร แต่หนี้เสียพุ่ง 37.8% จับตาสินเชื่อจำนำข้าว
คลังเผย 9 เดือนแรกแบงก์รัฐกำไร 1.9 แสนล้านบาท ยอดหนี้เสีย 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จับตาเอสเอ็มอีแแบงก์ปล่อยสินเชื่อแฟคเตอร์ริ่งที่ผิดวัตถุประสงค์ ล่าสุดมีโรงสีนำใบประทวนในโครงการจำนำข้าวเข้าขอสินเชื่อกว่า 5 พันล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงผลประกอบการแบงก์รัฐในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ว่า มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 3.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 7.3% ส่วนเงินรับฝากรวมมีจำนวน 3.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านเงินกองทุนภาพรวมมีจำนวน 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลกำไรสะสมเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนี้เสียมีจำนวนรวม 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือบีไอเอสเรโชอยู่ที่ 10.6 ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานระยะต่อไป
เมื่อพิจารณาภาพรวมของคุณภาพสินเชื่อพบว่า ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี แต่การขยายตัวของสินเชื่อในแบงก์รัฐบางแห่งกำลังเป็นที่จับตา เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อแฟคเตอร์ริ่งให้แก่โรงสีที่อยู่ในโครงการจำนำข้าวของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งได้รับรายงานว่า ขณะนี้ มีโรงสีที่นำใบประทวนเข้ามาขอสินเชื่อกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งการให้สินเชื่อดังกล่าวอาจผิดวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
"เพราะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โรงสีและเกษตรกรที่มีใบประทวน ทางโรงสีจึงได้นำใบประทวนมาจำนำต่อกับเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งถือว่า ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น ทางกระทรวงการคลังจึงกำลังจับตาประเด็นดังกล่าว"
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์เป็นหนึ่งสองแบงก์รัฐที่มีปัญหาด้านการดำเนินงาน โดยมีความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ ทำให้มีหนี้เสียในระดับสูงกว่า 30% ของยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน แม้ขณะนี้ จะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่แทนคนเก่าที่ถูกเลิกจ้าง แต่ปัญหาภายในองค์กรก็ยังไม่ได้รับกาาแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาหนี้เสีย
"เมื่อปัญหาหนี้เสียไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ ฝ่ายบริหารของธนาคารจึงมีแนวคิดที่จะตัดขายหนี้เสียบางส่วนออกไป ซึ่งขณะนี้ มีบริษัทบริหารสินทรัพย์รายหนึ่งได้เข้ามาประเมินคุณภาพหนี้เสีย เพื่อกำหนดราคาซื้อขายแล้ว"
สำหรับอิสลามแบงก์ ซึ่งเป็นแบงก์รัฐอีกแห่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานภายใน และ คุณภาพสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันยังมีระดับหนี้เสียในจำนวนสูงเช่นกัน โดยหลังจากกรรมการผู้จัดการของธนาคาร นายธานินทร์ อังษวรังษี ได้ลาออกจากตำแหน่งจากปัญหาความขัดแย้งในการบริหารงานภายใน ไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้า จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีกระบวนการสรรหาบุคคลเข้ารับตำแหน่งแทนและจากนั้นไม่นาน ประธานคณะกรรมการที่ดูแลกิจการให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามก็ได้ส่งหนังสือลาออกพร้อมชี้แจงเหตุผลว่า ด้วยนโยบายของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้ไม่สามารถบริหารงานให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามได้
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ลงข่าว :
28 พ.ย. 2556
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล:
[email protected]
หน้าแรก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
ข่าวและกิจกรรม
งานวิจัย
บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ
ดัชนี
หอการค้าโพลล์
AEC
สถิติ
ดาวน์โหลด
อัลบั้มภาพ
ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting