หน้าแรก | เกี่ยวกับหน่วยงาน | อัลบั้มภาพ | ติดต่อเรา | สมาชิก
 
เเถลงข่าว "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2562"
  นายธนวรรน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ค. 2562 ว่า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 77.7 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2560 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก สะท้อนจากดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 71.9 รวมถึงความกังวลจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกไทย และราคาสินค้าเกษตรยังคงทรงตัวระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อชะลอตัว และคาดว่า ผู้บริโภคจะยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรก เพราะสัญญาณเศรษฐกิจกิจเข้าสู่ขาลงชัดเจนขึ้น แต่คงต้องติดตามและยังมองว่าหากสงครามการค้าสหรัฐและจีนไม่เกิดความรุนแรงไปมากกว่านี้ เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมและดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 64.8 73.3 และ 95.0 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเม.ย. ที่อยู่ในระดับ 66.2 74.6 และ 96.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำและรายได้ในอนาคตมากนักการปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือนก.ค.นี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีเศรษฐกิจน่าจะใกล้เคียงกับทีมเดิมเข้ามาสานต่องานจะสามารถดึงความเชื่อมั่นให้ดีขึ้นได้ แม้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 อาจจะล่าช้าไปถึงต้นปีหน้า ทำให้เกิดสุญญากาศครึ่งปีหลัง แต่รัฐบาลสามารถใช้งบกลางหรืองบที่เหลือแต่ละกระทรวง เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5%

ส่วนความกังวลว่าจะมีการเคลื่อนไหวนอกสภา หากเป็ไปในกรอบจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่สามารถทำได้ แต่หากเกิดความรุนแรงถึงขั้นสถานทูตต่างชาติออกมาเตือนจะกระทบเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้แน่นอน เพราะมีผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวในประเทศ จากสถิติในรอบ 60 ปี เศรษฐกิจไทยจะติดลบจากปัจจัยภายนอกเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาแม้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือ เหตุการณ์ชุมนุมปิดพื้นที่กรุงเทพมหานคร เศรษฐกิจก็สามารถขยายตัวเป็นบวกได้

 

แหล่งที่มา : ข่าวสด
วันที่ลงข่าว : 6 มิ.ย. 2562
« กลับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
126/1 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 0-2697-6341
โทรสาร: 0-2697-6342
อีเมล: [email protected]
หน้าแรก   เกี่ยวกับหน่วยงาน  ข่าวและกิจกรรม  งานวิจัย  บทวิเคราะห์สถานการณ์ >
รายงานภาวะเศรษฐกิจ  ดัชนี  หอการค้าโพลล์  AEC  สถิติ   ดาวน์โหลด  อัลบั้มภาพ  ติดต่อเรา
ท่านสามารถนำเนื้อหาไปใช้แสดงดัดแปลงเผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา
ห้ามใช้เพื่อการค้า และต้องแนบสัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันนี้ไปกับงานที่เผยแพร่ต่฿เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น
Copyright © 2013 The Center for Economic and Business Forecasting